xs
xsm
sm
md
lg

"ราเมศ"ย้ำจุดยืน ปชป. แก้ รธน.ต้องไม่แตะหมวด 1 และ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคมีจุดยืนในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชัดเจนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นภายใต้ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญ ในฐานะสถาบันทางการเมืองเห็นมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ตามระบบประชาธิปไตย การลิดรอนสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ และยังมีอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิที่ดินทำกิน กระบวนการถ่วงดุลในเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริต การกระจายอำนาจ และที่สำคัญคือโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจทั้งของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

นายราเมศ กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่เสนอแนวคิดให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ง่ายขึ้น และมีอีกหลายประเด็นที่เป็นประเด็นปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงจะต้องมีขึ้นโดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหมวด 1 และหมวด 2

ในส่วนของสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรกคือให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวน 150 คน ส่วนอีก 50 คน จะผสมผสานผู้มีประสบการณ์ เช่น สสร. ที่มาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน สมาชิกซึ่งรัฐสภาคัดเลือก จำนวน 20 คน และในส่วนของพรรคฯ ให้ความสำคัญกับนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่จะมีกระบวนการสมัครเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกเป็น จำนวน 10 คน และเพื่อให้มีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่มีความอาวุโส โดยกำหนดให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เป็นระบบผสมที่จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและให้ความสำคัญกับประชาชนที่มีความสนใจในทุกจังหวัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. แต่ละจังหวัดตามสัดส่วนของจำนวนประชากร

นายราเมศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของความเห็นคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รายงานผลการพิจารณาศึกษาในเรื่องระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลการศึกษาที่อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการในการพิจารณาในรัฐสภา การถกเถียงเพื่อให้เป็นข้อตกลงที่ตกผลึกเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แล้วก็เชื่อเช่นกันว่าหากทุกพรรคการเมืองเล็งเห็นถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก็ไม่เป็นการยากที่จะมีการพูดคุยกัน

ในส่วนของการดำเนินการของรัฐบาลประชาชนคงสิ้นหวัง เพราะผ่านระยะเวลายาวนานแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะต้องมีแนวคิดและจุดยืนที่ชัดเจนถ้าจะตั้งขึ้นเพื่อถ่วงเวลากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในฐานะที่เคยให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้