สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาอาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง "นโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้หรือไม่" โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23–30 มกราคม 2567
ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 26.39 เชื่อว่านโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 22.26 เชื่อว่านโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้ในระดับมาก ร้อยละ 16.31 เชื่อว่านโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้ในระดับปานกลาง และ ร้อยละ 13.08 เชื่อว่านโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้ในระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 12.56 เชื่อว่านโยบายด้านจริยธรรมกำจัดสินบนได้ในระดับน้อย และร้อยละ 9.40 ไม่แสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ร้อยละ 33.23 ระบุ รัฐบาลควรมีนโยบายการปลูกฝังและให้ความรู้การต่อต้านการรับสินบนในโรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 16.84 ระบุ รัฐบาลควรมีนโยบายการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมการไม่รับสินบนในสังคม ร้อยละ 13.83 ระบุ รัฐบาลควรมีนโยบายการกำหนดกฎหมายบทลงโทษการรับสินบนอย่างเด็ดขาด ร้อยละ 13.38 ระบุ รัฐบาลควรมีนโยบายการเพิ่มโทษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ร้อยละ 11.66 ระบุ รัฐบาลควรมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ และ ร้อยละ 0.30 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ ดร.ธนเสฏฐ์ อัคคัญภูญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัย สยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ให้ความเห็นเพิ่มเติมในกรณีนี้ว่า "จริยธรรม" หรือ "ความมีจิตสำนึกที่ดีในจิตใจ" จะสามารถลดปัญหาการทุจริตในรูปแบบการให้สินบนและอื่นๆ ได้จริง เพราะเกิดจากการสั่งสมคุณงามความดี การปลูกฝังหลักธรรมทางพระศาสนาที่มากพอ จะส่งผลให้มีภูมิต้านทานต่อค่านิยมทางวัตถุที่ได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ ให้ไม่เหนือไปกว่าความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง โปร่งใส ซึ่งสังคมไทยจำเป็นต้องมีการปลูกฝัง คุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นค่านิยมหลักในการทำงาน และการดำเนินชีวิต เพื่อความถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐต้องมีความจริงจัง จริงใจ ในการป้องปรามปฎิเสธการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง มีการตัดสินอย่างยุติธรรม