xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”เผยการกินอาหารแปรรูปสูงบ่อยๆ เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า อาหารแปรรูปสูง..

ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การกินอาหารซึ่งเป็นอาหารสด หรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยๆ จะดีกว่าอาหารแปรรูปสูง

ผลิตภัณฑ์ประเภทแปรรูปสูง หรือ Ultra-processed foods นั้นคือ อาหารที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน นอกจากการใส่น้ำตาล เกลือ ไขมัน หรือไฟเบอร์แล้ว ยังอาจใส่สารเติมแต่ง เช่น สีผสมอาหาร สารแต่งกลิ่น อีมัลซิไฟเออร์ รวมถึงสารยืดอายุและคงสภาพอาหาร และอื่นๆ

วารสารการแพทย์โรคหัวใจ Nature Reviews Cardiology วันที่ 30 มกราคม 2024 ได้เผยแพร่บทความทบทวนความรู้เรื่องนี้

โดยชี้ให้เห็นว่า หากกินอาหารแปรรูปสูงบ่อยๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้มาก เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั้งจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อเทียบกันแล้ว คนที่กินอาหารแปรรูปสูงบ่อยๆ จะเสี่ยงเบาหวานเพิ่มขึ้น 40%, เสี่ยงความดันสูงเพิ่มขึ้น 23%, เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 35% และเสี่ยงต่อการเสียชัวิตมากกว่ากลุ่มที่กินอาหารแปรรูปน้อยถึง 29-50%

ดังนั้นจึงควรลดการกินอาหารประเภทนี้ให้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องกำกับดูแลนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในสังคมเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้มากขึ้น อาหารสด ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่างๆ ควรมีราคาสมเหตุสมผล ไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย

อ้างอิง
Ultra-processed foods and cardiovascular disease. Nature Reviews Cardiology. 30 January 2024. (เครดิตภาพ: Topol E.)