นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2566 ว่า มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 ร้อยละ 15.75 เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึงร้อยละ 29.94
โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึงร้อยละ 41.30 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะเพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP และอีกส่วนหนึ่งมาจากรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 16.24 แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.44 ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.30 และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 18.19 เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,841,663 คัน ลดลงร้อยละ 2.22
ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 17.48 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้ นอกจากนี้การลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ยังต้องรองบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปอีกหลายเดือน
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนธันวาคม 2566 ส่งออกได้ 90,305 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 9.34 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 ร้อยละ 19.09 แต่ทั้งปี 2566 การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรค โควิด 19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 11.73 เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง
โดยในเดือนธันวาคม รวมมูลค่าการส่งออกมีทั้งสิ้น 90,404.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 10.78 และทั้งปี 2566 รวมมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นกว่า 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 6.89