ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้มีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ถึงประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการอยู่เวรของครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และหน่วยงานที่มีสถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญ และได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตเรียบร้อยแล้ว โดยการยกเว้นครั้งนี้จะช่วยลดภาระที่ไม่จำเป็นของครูลง ทำให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน และมีความปลอดภัยมากขึ้น
ที่ผ่านมา สพฐ. พยายามลดภาระครูมาตลอด ที่ผ่านมารับรู้ปัญหาว่าครูในหลายพื้นที่มีเพียง 2-3 คน ทำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่มาก ถือเป็นประเด็นปัญหาที่ สพฐ. นำมาออกแบบ และวางแผนแก้ไขมาโดยตลอด การที่คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกครูเวรนั้น ถือเป็นความสำเร็จที่ครูทุกคนได้รับ
ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองว่าขณะนี้ภาระของครูมีจำนวนมาก และมากกว่าการจัดการเรียนการสอน ขณะเดียวกัน สพฐ. มีหลายโครงการที่จะลดภาระครู คืนเวลาสอนให้ครู คืนเวลาเรียนให้นักเรียน จากการสำรวจพบว่าหลายเรื่องที่ไม่ใช่ภาระหลักของครู แต่ครูต้องทำมีกว่า 400 รายการ ขณะนี้ สพฐ. กำลังออกแบบและค่อยๆ ลดเรื่องเหล่านี้ลง โดยเฉพาะการประกวด การออกแบบ การแข่งขัน การจัดกิจกรรมต่างๆ มั่นใจว่าในอนาคตครูจะได้ทำหน้าที่ครูอย่างเต็มที่ นักเรียนจะได้อ่านออกเขียนได้ และคุณภาพการศึกษาของประเทศจะดีขึ้น