xs
xsm
sm
md
lg

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 ขยายตัว 4.4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของไทย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ4.4 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 และเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5% ทั้งนี้ IMF ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวในรายงาน "IMF Executive Board Concludes 2023 Article IV Consultation with Thailand" บนเว็บไซต์ของ IMF ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันจันทร์ (22 ม.ค.)

แม้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2567 แต่ก็มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางที่อ่อนแรงลง อันเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดย IMF คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 1.7 เนื่องจากอุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในกรอบคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วน GDP ของไทยในปี 2566 นั้น IMF ประมาณการว่ามีการขยายตัว ร้อยละ2.5 โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนและการส่งออกด้านการบริการที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไตรมาส 4/2566 ขณะเดียวกัน IMF ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ของไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.3

IMF ระบุว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2566 และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นในปี 2567 เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลไทยออกมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง ส่วนในปี 2568 นั้น IMF คาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะขยายตัว ร้อยละ 2.0

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ก่อนเพิ่มเป็นร้อยละ 3.1 ในปี 67 แต่หากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะโตได้ร้อยละ 3.6 ซึ่งแตกต่างจากเอกสารกระทรวงการคลังที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 น่าจะขยายตัวได้เพียง ร้อยละ1.8 และจะเร่งตัวไปที่ 2.8%ในปี 67

KBANK มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5% เป็น ร้อยละ15% โดยมีปัจจัยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก, เศรษฐกิจจีนอ่อนแอ ส่งผลเสียต่อดุลการค้าไทย การพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น จำกัดการเติบโตในระยะยาว, การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกระทบต่อค่าเงินบาท โดยมีแนวโน้มอยู่ที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้