xs
xsm
sm
md
lg

"เทพไท"จี้กรมราชทัณฑ์ขอความชัดเจนเรื่องการพักโทษ“นช.ทักษิณ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่า ขอความชัดเจน เรื่องการพักโทษ “ทักษิณ” ของกรมราชทัณฑ์

ผมเห็นข่าวที่กรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงเรื่อง นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าข่ายได้รับการพักโทษพิเศษแล้ว ทำให้รู้สึกสับสนในกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่า ระหว่าง คุณทักษิณกับผมได้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันหรือไม่ หลักเกณฑ์ในการพักโทษเหมือนกันหรือไม่

สำหรับผมเคยยื่นขอการพักโทษตั้งแต่ถูกคุมขังได้ 1 ใน 3 ของโทษตามคำพิพากษา แต่ได้รับการชี้แจงว่า ประกาศของกรมราชทัณฑ์ฉบับดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว จะขอใช้สิทธิ์การถูกคุมขังครึ่งหนึ่งของโทษทั้งหมด ก็ไม่มีระเบียบของกรมราชทัณฑ์รองรับ จึงมาใช้สิทธิ์เงื่อนไขถูกคุมขัง 2 ใน 3 ของโทษตามคำพิพากษา จึงได้รับสิทธิ์การพักโทษ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

แต่เมื่อพิจารณาตาม พรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 (7) ที่ระบุว่า พักการลงโทษเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้นแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา และกำหนดระยะเวลา ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้กำหนดเท่ากับกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่ ทั้งนี้ ในการคำนวณระยะเวลาการพักการลงโทษ ถ้ามีวันลดวันต้องโทษจำคุกตาม (6) ให้นำมารวมกับระยะเวลาในการพักการลงโทษด้วยโดยในการพักการลงโทษ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ

ถ้าหากนำ พรบ.ฉบับดังกล่าวมาใช้กับคุณทักษิณนั้น ทำให้ผมแปลกใจว่า ทำไมผมไม่ได้รับการพิจารณาตาม พรบ.ฉบับนี้ด้วย ถ้าหากว่าผมได้ใช้ พรบ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาบังคับใช้ ผมก็จะได้รับการพักโทษ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2566 แล้ว

จึงอยากจะทวงถามความชัดเจนว่า การพักโทษ ระหว่างผมกับคุณทักษิณ ได้ใช้กฎระเบียบเดียวกันหรือไม่ ถ้าหากใช้กฎหมายคนละฉบับ จึงอยากจะถามว่าด้วยเหตุผลใด และกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติแบบสองมาตรฐานหรือไม่ อย่าให้เกิดความผิดพลาดเหมีอนกรณีของนายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช" หรือ "เบนซ์ เรซซิ่ง" อีกเลย ซึ่งจะสร้างความเสียหาย ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อกรมราชทัณฑ์ และผู้รับผิดชอบอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้