xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา”เตือนกินปลาปักเป้าน้ำจืดเสี่ยงเจอพิษ ไม่ใช่เฉพาะปักเป้าทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า "กินปลาปักเป้าน้ำจืด ก็เสี่ยงจะเจอพิษ ไม่ใช่เฉพาะปักเป้าทะเล"

วันนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอ ของเพจเฟซบุ้คด้านการพาเที่ยว พาไปกินอาหาร โดยเป็นคลิปของชาวบ้านมาปิ้งกิน "ปลาปักเป้าแม่น้ำโขง"โดยระบุว่า เปิบของดีเมืองท่าแขก ซึ่งน่าจะหมายถึงที่แขวงคำม่วน ประเทศลาว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ของไทย

ซึ่งทำเอาหลายคนที่มาดูคลิป สงสัยว่าจะไม่เป็นอันตรายจากพิษปลาปักเป้าที่กินเข้าไปหรือเปล่า ? ขณะที่บางคนก็บอกว่า ปลาปักเป้าน้ำจืด กินได้ ไม่มีพิษ ?

คำตอบคือ ปลาปักเป้าน้ำจืด ก็คล้ายกับปลาปักเป้าทะเล และสัตว์น้ำอีกหลายชนิด (เช่น แมงดาทะเลหางกลม , หมึกสายวงน้ำเงิน ฯลฯ) ที่จริงๆ แล้ว พวกมันไม่ได้สร้างสารพิษในตัวเอง แต่มันสามารถสะสมเชื้อแบคทีเรีย หรือแพลงค์ตอนสาหร่าย ที่สร้างสารพิษร้ายแรง ไว้ในตัวเองได้โดยที่มันไม่เป็นอันตราย จึงนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษเช่นกัน

ที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่าปลาปักเป้าน้ำจืดจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษครับ แต่ชนิดที่มีพิษนั้นมีอยู่หลายชนิดมากครับ เคยมีข่าวคนเสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้าน้ำจืดมาแล้ว ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตราย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ

พิษจากปลาปักเป้า (จาก https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_activities/16/164789)

“ปลาปักเป้า” ในประเทศไทย สามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและทะเล มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของปลาปักเป้าพบได้ทุกส่วนของตัวปลา ซึ่งพบมากที่บริเวณไข่ ตับ เครื่องใน และหนัง โดยสามารถแยกประเภทของพิษตามชนิดของปลาปักเป้าได้ดังนี้

1. "ปลาปักเป้าทะเล" มีพิษที่เรียกว่า “เทโทรโดท็อกซิน” (tetrodotoxin) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการลิ้นชา อาเจียน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง เดินเซ ขยับเขยื้อนไม่ได้ หายใจลำบาก ซึ่งหากมีอาการแพ้มากและรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการมักเกิดอย่างรวดเร็วหลังรับประทานภายใน 5 - 20 นาที หรืออาจนานถึง 2 - 3 ชั่วโมง

2. "ปลาปักเป้าน้ำจืด" มีพิษที่จัดอยู่ในกลุ่ม PSP (Paralytic Shellfish Poison) เมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกาย พิษจะเข้าไปขัดขวางเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ จึงเกิดการยับยั้งการส่งกระแสประสาทและการส่งสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชา และเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และที่เป็นอันตรายที่สุดคือ การเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ ซึ่งส่งผลให้หายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

เคยมีคนเสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้าน้ำจืด

- เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2558 มีรายงานข่าว (https://www.posttoday.com/politics/349176) ชาวบ้าน 2 รายในพื้นที่ ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม นำปลาปักเป้าน้ำจืดมาปรุงอาหารรับประทาน จนเกิดอาการตัวชา อาเจียน ก่อนหมดสติต้องหามส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ขณะที่อีกรายเสียชีวิตระหว่างทาง

- เหตุเกิดจากการที่นายบุญมา จูมเกตุ อายุ 64 ปี ได้ขอแบ่งปลาปักเป้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จากชาวบ้านที่ไปวางตาข่ายหาปลาในลำห้วยน้ำเสียว แล้วนำมาต้มใส่ใบมะขามอ่อน โดยต้มทั้งตัว และไม่ได้ผ่าท้องล้างเครื่องในออก ภรรยาห้ามปรามก็ไม่ฟัง หลังทานเสร็จเรียบร้อย ได้นำต้มปลาที่เหลือไปเททิ้งให้ไก่กิน ปรากฎว่าเพียงไม่กี่นาที ไก่จำนวนกว่า 11 ตัวเกิดอาการเซื่องซึมก่อนเสียชีวิตทั้งหมด

- หลังจากนั้น นายบุญมามีอาการชาที่ปาก หมดแรง ก่อนจะอาเจียนอย่างหนัก และหายใจหอบ สุดท้ายช็อกหมดสติไป จึงรีบนำส่งรักษาที่ ร.พ.วาปีปทุม ปรากฏว่าเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีนายชาญฤทธิ์ บุญสอน เพื่อนบ้านอีกคนที่แบ่งปลาปักเป้าไปหมกใบตองรับประทาน ก็ป่วยจนต้องพักรักษาอยู่ห้องผู้ป่วยหนัก ร.พ.มหาสารคาม

- ชาวบ้านในพื้นที่เผยว่า สำหรับปลาปักเป้าที่นิยมนำมารับประทานกันมี 2 ชนิด คือชนิดหนึ่งจะมีลักษณะเป็นลายสีดำ ตาสีแดง มีครีบลำตัว ไม่มีหนาม คล้ายกับปลาบู่ตัวเล็กๆ และอีกชนิดจะมีตัวลายสีเหลือง ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยจับมาปรุงอาหารรับประทานบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยมีใครเสียชีวิต

- ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ระบุว่า ปลาตัวดังกล่าวเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด สายพันธุ์ที่เรียกว่า ปักเป้าบึง (Pao palustris) พบชุกชุมในภาคกลางและภาคอีสาน อาศัยอยู่ตามหนอง หรือบึงขนาดใหญ่ ขนาดตัวยาวประมาณ 6-10 ซม. ลำตัวเป็นสีเขียวมะกอก มีจุดวงกลมสีดำกระจายอยู่ตามด้านข้างและด้านบนของลำตัว ส่วนเพศผู้ลำตัวจะมีสีน้ำตาลเข้ม ตาสีแดงขนาดใหญ่

- และอธิบายต่อด้วยว่า ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะนำปลาปักเป้าน้ำจืดมาปรุงเป็นอาหารรับประทานกันมาหลายชั่วคนแล้ว แต่ถ้าปลาปักเป้าชนิดนี้ไปอาศัยอยู่ในหนองบึงที่มีลักษณะเป็น "น้ำนิ่ง" ก็อาจกินแพลงตอนหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดพิษเข้าไป เมื่อคนจับไปกินก็อาจเป็นอันตรายได้ ส่วนปลาปักเป้าที่อาศัยอยู่ในแหล่ง "น้ำไหล" ต่อเนื่องกับแม่น้ำ ก็น่าจะไม่มีพิษ

- สำหรับเหตุการณ์คนกินปลาปักเป้าน้ำจืด แล้วเสียชีวิต ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2549 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งมาเกิดขึ้นในปี 2558 อีกครั้ง

- ปัจจุบัน การรักษาพิษจากปลาปักเป้านั้น ยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถแก้พิษได้ จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตามอาการและเนื่องจากพิษจะถูกขับทางปัสสาวะการให้ยาขับปัสสาวะจะช่วยให้พิษถูกขจัดออกได้เร็วขึ้น และการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร ไม่สามารถทำลายพิษของปลาปักเป้าได้เช่นกัน

- จึงขอเตือนประชาชนไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดหรือปลาปักเป้าทะเล มาบริโภคโดยเด็ดขาด เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถแยกชนิดปลาปักเป้าที่มีพิษและไม่มีพิษได้ และหากสงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อรักษาตามอาการ และเนื่องจากพิษจะถูกขับทางปัสสาวะ การให้ยาขับปัสสาวะจะช่วยให้พิษถูกขจัดออกได้เร็วขึ้น (https://www.thaihealth.or.th/เหตุที่ไม่ควรนำปลาปักเ/)

ชนิดของปลาปักเป้าน้ำจืดที่มีพิษ

- กรมประมงได้ออกสำรวจปลาปักเป้าในน่านน้ำไทย (https://www.thairath.co.th/content/684821) พบมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็น ปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิด เป็นปลาปักเป้าน้ำเค็ม และน้ำกร่อย

- ใน 9 ชนิดของปลาปักเป้าน้ำจืดนั้น มีชนิดที่เป็นพิษอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ปลาปักเป้าดำ, ปักเป้าสุวัตถิ, ปักเป้าจุดแดง และ ปักเป้าจุดดำ

- ผลการตรวจหาพิษ พบในทุกส่วนของตัวปลา ทั้งในเนื้อเยื่อ หนัง อวัยวะภายใน เช่น ตับ และไข่ปลา

"ปลาปักเป้าจุดดำ หรือ ปลาปักเป้าเขียวจุด" : มีรูปร่างกลมป้อม หัวท้ายเรียว ปากเล็ก ตาโต ด้านหลังและด้านท้องมีผิวสากเป็นหนามเล็กละเอียด ด้านท้องนิ่มขยายตัวได้มาก ครีบหลังเล็ก เช่นเดียวกับครีบก้น พื้นลำตัวเป็นสีเหลืองสด ท้องสีขาว มีจุดกลมสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว

"ปักเป้าดำ" : จะมีรูปร่างกลมป้อม หัวท้าย เรียว ปากเล็ก ตาโต ด้านหลังและท้องมีผิวสากเป็น หนามเล็กละเอียด ใต้ท้องจะนิ่มและสามารถขยายตัวได้มาก ครีบหลังกับครีบก้นเล็ก ลำตัวสีเขียวอมเทาคล้ำ หรือสีน้ำตาลเข้ม มีดวงหรือลายสีดำคละทั่วตัว ตาแดง และครีบสีจาง

"ปลาปักเป้าสุวัตถิ หรือ ปักเป้าควาย" : มีจุดเด่น ปากเรียวยาวงอนขึ้น ด้านบน มีลายคล้ายลูกศรบริเวณด้านบนระหว่างตาทั้งสองข้าง ลำตัวมีสีส้มแดงและมีจุดดำกระจายอยู่ทั่ว จัดเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

"ปลาปักเป้าจุดแดง หรือ ปักเป้าจุดส้ม" : มีลักษณะคล้ายปักเป้าจุดดำ แต่มีจุดแดง หรือจุดส้ม กระจายอยู่ทั่วตัว

#ห้ามนำปลาปักเป้าทุกชนิดมาจำหน่าย

- กรมประมง ได้เคยออกประกาศเตือนชาวบ้านให้รู้แล้วว่า ปลาปักเป้าน้ำจืดมีพิษอันตราย ห้ามบริโภคเด็ดขาด และประสานงานกับทางกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกประกาศ ระบุให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เป็น "อาหารห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย" ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท

- ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545 เรื่อง การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตราที่ 50 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท

- ผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าอย่างเด็ดขาด โดยควรสังเกตเลือกซื้อปลาที่ผ่านการแล่ทุกครั้ง หากเป็นเนื้อปลาปักเป้าจะมีลักษณะชิ้นเนื้อหนา สีขาวอมชมพู ลายกล้ามเนื้อไม่ชัดเจน และมีเยื่อพังผืดหุ้มชิ้นเนื้อ เมื่อปรุงสุกเนื้อจะมีสีขาวคล้ายเนื้อไก่

- ควรเลือกซื้อเนื้อปลาที่ผ่านการแล่จากแหล่งที่ทราบชนิด รวมถึงแหล่งที่มาของเนื้อปลา เพื่อลดความเสี่ยงการบริโภคปลาปักเป้าที่อาจเกิดอันตรายถึงตายได้