นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันนี้ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นวาระแห่งชาติ และถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และประชาชนทุกกลุ่มต้องเสี่ยงดำรงชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษนี้ เดิมทีเราอาจไม่ได้คิดว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ ฝุ่นจิ๋วสามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ ผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ
1. ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง
2. ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง
3. ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมองต่อไป
ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า มีการศึกษาพบว่ามีการสะสมของอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองจริง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ซึ่งผ่านมาจากผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง เพราะสามารถตรวจพบอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองส่วนหน้าคล้ายๆ กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในสมองโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต จะพบว่าพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับ นอกจากนี้ในสมองส่วนลึก ก็พบว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตรงกับช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของฝุ่นจิ๋ว โดยอธิบายได้ว่า ฝุ่นจิ๋วมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่น ๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม เป็นต้น ขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเองจากฝุ่นจิ๋ว หากพบว่ามีฝุ่นในปริมาณสูง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน นอกจากนั้นควรจะมีส่วนในการลดการสร้างฝุ่นจิ๋ว ด้วยการลดการเผา ลดการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์