xs
xsm
sm
md
lg

“จตุพร”แนะจับตา คกก.ราชทัณฑ์ นัดถกเกณฑ์คัดกรองนักโทษขังตัวที่บ้าน 11 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า สถานการณ์นักโทษชั้น 14 กับคำอ้าง “แล้วไง...มีอะไรมั้ย ข้าใหญ่ ดีลอะไรก็ชนะ” สะท้อนถึงพฤติกรรมย่ำยีกระบวนการยุติธรรมท้าทายอารมณ์ประชาชนให้เดือดดาลยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองครั้งใหญ่ และปรากฏการณ์จะเริ่มสำแดงเดชในวันที่ 11 ม.ค.นี้

นายจตุพร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าความน่าสนใจของกรณีนักโทษชั้น 14 รพ.ตำรวจ จะเกิดปรากฏการณ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.นี้ เพราะคณะกรรมการราชทัณฑ์ 17 คนจะพิจารณานักโทษเข้าเกณฑ์ถูกคุมขังตัวที่บ้าน ถึงที่สุดการพิจารณาจะเป็นอีกชนวน เพื่อท้าทายอารมณ์ของประชาชนให้เดือดพลุ่งพล่านรุนแรงยิ่งขึ้น

อีกทั้งระบุว่า ก่อนหน้านี้ การท้าทายอารมณ์ประชาชนถูกกระทำย้ำๆกันมาแล้ว กรณีอ้างถึงกล้องทีวีวงจรปิดของ รพ.ตำรวจเสีย อาการเจ็บป่วยของนักโทษแถลงไม่ได้ การอ้างเช่นนี้แสดงถึงพฤติกรรมอำนาจจะเอาเสียอย่าง คนไทยมีอะไรมั้ย เราใหญ่ที่สุดกับการดีลที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้

“สภาพการณ์แบบนี้ จะทำให้ประเทศสิ้นหวัง น่าหดหู่ ไม่คิดว่าบ้านเมืองจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ จุดที่ให้คนเห็นผิดเป็นชอบ จุดจะเอาเสียอย่าง มีอะไรมั้ย นักโทษอยู่ชั้น 14 (กว่า 120 วัน) แล้วไง แล้วยังอ้างเป็นไปตามกฎหมาย ยกยอเขาเป็นนักสร้างสันติภาพ สำนวนคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบหายแล้วไง ซึ่งประเทศนี้ถูกท้าทายแบบพฤติกรรมยั่วทางอารมณ์แบบ แล้วไง มีใครใหญ่กว่านี้หรือไม่"

นายจตุพร กล่าวว่า คำว่าแล้วไง ยิ่งนานวันเข้าจะมีมากขึ้น นักโทษถูกลดโทษจาก 8 ปีเหลือโทษติดคุก 1 ปี แต่ยังไม่ติดคุกสักวัน ประชาชนสงสัยกลับถูกท้าทายด้วยอารมณ์แบบแล้วไง มีอะไรหรือไม่ พร้อมเหยียดหยามพลังประชาชนจะๆม่มีใครออกมาชุมนุมบนถนนกัน ซึ่งอารมณ์แบบแล้วไง ยั่วยุแบบมีอะไรหรือไม่ ยิ่งจะซ้ำเติมตราหน้าท้าทายประชาชนที่จะตรวจสอบหาความจริงกันไม่ได้

ขณะที่ถ้าวันที่ 11 ม.ค.นี้ นักโทษชั้น 14 ไม่ได้อยู่ที่ รพ.ตำรวจแล้ว กมธ.ตำรวจของสภาผู้แทนราษฎร จะมาตรวจสอบกันทำไม ดังนั้น อารมณ์ประชาชนถูกท้าทายหนักยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากประชาชนอดทนไม่ไหว แล้วออกมาชุมนุมบนถนน เราขอนั่งดูไปก่อน ไม่ไปร่วมชุมนุมด้วย หากไม่ไหวจะพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่น่ากังวล โดยเกิดปัญหาขึ้น แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับไม่รีบแก้ไขอย่างฉับพลัน ยิ่งร่างงบประมาณปี 2567 จำนวน 3.4 ล้านล้านบาท ถูกดองจนล่าช้า ทำให้ประเทศเกิดวิกฤตทับถมกันมากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการที่เฮงซวยของรัฐบาลเพื่อไทยจึงเป็นปัญหาวิกฤตใหญ่ของบ้านเมืองในขณะนี้

นายจตุพร กล่าวว่า กระดานการเมืองที่มากผลประโยชน์นั้น เป็นสภาพที่คนไทยไม่เคยเจอมาก่อน แล้วยังจะสร้างจินตนาการให้เกิดความเสียหายมากขึ้น สิ่งสำคัญแล้วการทุจริตด้านผลประโยชน์ย่อมไม่เกี่ยวกับการปกครองว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย แต่รัฐบาลกลับมาอ้างว่า การเมืองยึดอำนาจเป็นเผด็จการยัดคดีทุจริตให้นักโทษชั้น 14

"การเล่นละครตบตาเอาผลประโยชน์ชาติ ด้วยคำตลบตะแลงทั้งหลาย ยิ่งปรากฎการณ์ทักษิณกลับไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 จะนำมาอธิบายตรรกะการเมืองไทยไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าอธิบายคณะยึดอำนาจเล่นงานคดีทุจริต แต่ไม่อธิบายถึงพวกยึดอำนาจยังมาโหวตให้เป็นนายกฯ ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่เข้มแข็งกันจริงจะต่อสู้กับความตลบตะแลงของนักการเมืองพวกนี้ไม่ได้เลย"

นายจตุพร กล่าวว่า ความขัดแย้งของประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องความเห็นต่างทางขั้วอำนาจกันอีกแล้ว แต่เป็นปัญหาต่อสู้ระหว่างความยุติธรรมกับไม่ยุติธรรม ถ้าปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ อารมณ์ของประชาชนจะทวีรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ หากประชาชนออกมาชุมนุมบนถนน สถานการณ์จะกลายเป็นคนละเรื่องทันที เพราะไม่คิดว่าการเมืองจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยด้วย โดยพลังประชาชนจะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมือง ซึ่งอาจเป็นด้านดีและไม่ดีก็ได้

"สภาพการณ์แบบนี้จะยิ่งทำให้ประเทศรอเวลาพังยับเยิน ถ้าเกิดชนวนความขัดแย้งขึ้น หากยิ่งตอกย้ำชนวนแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนย่อมจะเห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นมากมาย และผมไม่ได้ชวนคนลงถนน แต่เมื่อถึงเวลาผมเชื่อว่าคนจะมาชวนผมด้วยซ้ำไป"

นายจตุพร กล่าวว่า สภาพของสังคมมีคนรวย คนจน เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติ แต่การไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันยิ่งซ้ำเติมคนจนกันมากขึ้น เพราะคนรวย พวกอภิสิทธิ์ชนได้รับละเว้นจากถูกกฎหมายบังคับ ดังนั้น บ้านเมืองนี้จะไม่เหลืออะไรเลย

"อย่างไรก็ตาม ใครเหลิงลมก็เหลิงไป เอาให้เหลิงเต็มที่ ถ้าคิดว่าชนะแน่นอนด้วยดีลจนความบาดหมางในอดีตได้กลับมาคืนดีกันหมดแล้ว ส่วนประชาชน บ้านเมืองกลับไม่ได้ดีกันเลย ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยความอยุติธรรมที่ไร้ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

พร้อมเชื่อว่า ความรู้สึกของคนไทยยังต้องการความถูกต้อง รักความยุติธรรม โดยหวังว่า สถานการณ์จากนี้ไปจะทำให้ประชาชนมีจิตใจเข้มแข็ง ใจเย็นและรอด้วยความอดทน ดังนั้น ใครคิดออกแบบความยุติธรรมไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันต้องเข้าใจหัวอกของประชาชนทั้งหลายที่เจ็บปวดกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย

“กรณีนักโทษชั้น 14 เป็นตัวอย่างท้าทายอารมณ์อกหักของประชาชนได้เป็นอย่างดี ที่ยุติธรรมของบ้านเมืองถูกย่ำยี ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศได้อย่างรวดเร็วและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”

ประเทศไทยต้องมาก่อน