วันนี้ (4 ม.ค.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 3 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 239 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 250 คน ผู้เสียชีวิต 35 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 3 ม.ค. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,083 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,106 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 256 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้พฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 239 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 250 คน ผู้เสียชีวิต 35 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.66 ตัดหน้ากระชั้นชิด 21.76 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 14.64 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.07 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 84.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.35 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 24.27 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 15.01-16.00 น. ร้อยละ 9.62 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 21.05 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,789 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,515 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (15 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครปฐม (3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 3 มกราคม 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,083 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 2,106 คน ผู้เสียชีวิต รวม 256 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (77 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (83 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (17 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด