ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่จังหวัดอิชิกาวะ บนเกาะฮอนชู เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 1.2 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่ง โดยอาคารบ้านเรือน รวมถึงถนนยังเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ว่า ถือเป็นธรณีพิบัติที่รุนแรงและอยู่ในระดับตื้นมาก เพียง 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามด้วยระยะห่างจากประเทศไทย 4,000-5,000 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาแบบจำลองการเกิดสึนามิในอ่าวไทยกรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในแนววงแหวนไฟเช่นกันแต่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า โดยสมมติว่าหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงชายฝั่งทะเลไทยได้ แต่จะใช้เวลาเดินทางนาน 10-20 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งด้านตะวันตกของไทยหรือชายฝั่งทะเลอันดามันยังคงมีความเสี่ยงต่อสึนามิอยู่ เนื่องจากแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอยู่ห่างไปเพียงประมาณ 800-1,200 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าแนวรอยต่อทางฝั่งตะวันออกมาก แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน คือแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียกับแผ่นยูเรเซีย ดังที่ได้เคยเกิดในไทยมาแล้วเมื่อปี 2547 จนทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงถึง 11 เมตร ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือเท่านั้นที่จะลดความเสี่ยงต่อสึนามิในฝั่งทะเลอันดามัน