xs
xsm
sm
md
lg

‘อังคณา’ชี้กรณีนอนนานชั้น 14 สร้างความไม่เท่าเทียม -การเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กรณีนอนนานชั้น 14 ซึ่งจะครบกำหนด 120 วันในอีกไม่นาน และหากจะขยายต่อต้องมีการทบทวน และต้องแจ้งรัฐมนตรียุติธรรมเพื่อทราบ ซึ่งในการชี้แจงต่อสังคมดูเหมือนจะมีความคลุมเครือโดยอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ ซึ่งกระทบต่อหลักนิติธรรม อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

หลักการ right to privacy (#สิทธิความเป็นส่วนตัว) ได้รับรองไว้ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR ข้อบทที่ 17) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ได้ออกความเห็นทั่วไป ที่ 16 (General Comment No.16) เพื่ออธิบายความหมายของ สิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจแทรกแซงความเป็นส่วนตัวโดยพลการของบุคคล แต่สิทธินี้ก็ไม่ใช่ #สิทธิสัมบูรณ์ (absolute right) ในข้อ 7 ของ GC 16 จึงกล่าวถึงข้อยกเว้นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวไว้ว่า

“เนื่องจากทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวจึงจำเป็นต้องสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณะผู้มีอำนาจควรจะสามารถเรียกร้องข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของบุคคลซึ่งมีความจำเป็นต่อผลประโยชน์ของสังคม ตามที่เข้าใจภายใต้กติกานี้เท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการจึงแนะนำให้รัฐต่างๆ ควรระบุในรายงานของตนถึงกฎหมายและข้อบังคับที่ควบคุมการแทรกแซงที่ได้รับอนุญาตต่อชีวิตส่วนตัว”

ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

ความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องซับซ้อน เกี่ยวพันกับหลายสิทธิ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนบางคน เชื่อว่าความเป็นส่วนตัวจะต้องมีข้อจำกัดบางประการเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการอ้างที่ไม่ชอบธรรม โดยเห็นว่าบุคคลควรสละการอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวเท่าที่จำเป็น เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ กรณี #นอนนานชั้น14 กระทรวงยุติธรรมจึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวังในการคุ้มครองครองความเป็นส่วนตัว กับการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะการยืนยันหลักความเท่าเทียม การไม่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อรักษาหลักใหญ่ของหลักนิติธรรม (Rule of Law)