xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ขานรับนโยบายรัฐเร่งแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ-กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.อ.หญิงนุชระวี แจ่มจำรัส รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะเรื่องไฟป่า หมอกควัน รวมทั้งฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันรับมือและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง มุ่งให้ความสำคัญกับอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ดีของคนไทย

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 3 และ กอ.รมน.จังหวัด 17 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด เร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันฝุ่นละออง ควันพิษ PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด ใช้กลไกความมั่นคงและกำลังทหารในการปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรการ 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ ปฏิบัติการ และหลังการปฏิบัติการ

กอ.รมน. โดย กอ.รมน.ภาค 3 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าตามคำสั่งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่ออำนวยการ บูรณาการ เฝ้าระวังติดตาม รวมทั้งประเมินสถานการณ์ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งบูรณาการการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญจากข้อมูลสถิติในห้วงที่ผ่านมา

รวมถึงข้อมูลจากโดรนลาดตระเวน และระบบดาวเทียม ด้วยการใช้กลไกความมั่นคงในทุกระดับ ตลอดจนการระดมสรรพกำลัง กำลังพล ยุทโธปกรณ์ อากาศยานจากกองทัพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้มีความพร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ ในขณะเดียวกันได้เสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567

สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆ ได้มีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระดับพื้นที่ถึงการลดปริมาณฝุ่นละออง ควบคู่ลดการเผาขยะทางการเกษตรจากตอซัง ฟางข้าว ด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ อาทิ ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน การใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรโปรยสารชีวภาพเร่งการย่อยสลายและบำรุงดิน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ฟางข้าว โดยใช้เครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแบบเคลื่อนที่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งดการเผาทำลายที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมถึงมีการจัดชุดประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร ปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่การพัฒนาเป็นเกษตรสีเขียวตามแบบ BCG Model เพื่อลดมลพิษ ร่วมสร้างอากาศสะอาด และสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน