xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊งอิ๊ง”ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลในงาน “YOUTH POWER ขับเคลื่อน SOFT POWER”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลในงาน “YOUTH POWER ขับเคลื่อน SOFT POWER” โดย Youth In Charge ณ หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) พร้อมรับข้อเสนอนโยบายจากตัวแทนเยาวชน โดยชี้ว่ารัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริมให้เอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจประเทศ

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สิ่งที่ Youth In Charge ตรงกับที่รัฐบาลทำ ถือเป็นเรื่องดีที่เราจะได้มาพูดคุยกัน โดยซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เราทำร่วมกับเอกชนด้วย เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง แต่เราต้องการผู้เชี่ยวชาญจริงจากภาคเอกชนเข้ามาช่วย ในส่วนของรัฐบาลคือ Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) เราจะช่วยส่งเสริมเอกชน นำเอกชนที่รู้วิธีการขับเคลื่อนมาช่วยกันให้เกิดพลังขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หารายได้เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาเรากำลังติดกับการถามว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร อยากจะบอกว่า การนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์คือสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด ณ เวลานี้ คำนี้ถูกพูดขึ้นมาในระยะเวลาประมาณ 40 ปีนี้ โดยเริ่มจากทางการทูต ซึ่งตอนนี้นำมาในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เราก็ไม่ได้พูดถึงสงครามเย็นแล้ว เราพูดกันเรื่องเศรษฐกิจว่าซอฟต์พาวเวอร์จะสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างไร เพื่อยกระดับรายได้ประชาชน

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า เราได้เรียนรู้มาจากอดีตที่ทำมา อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งที่ตั้งในสมัยไทยรักไทย เป็นสถานที่ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับวัสดุ เนื้อสัมผัส (texture) ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานออกแบบทั้งหมด ทำให้นักออกแบบได้สัมผัสวัสดุจริงซึ่งทำให้เกิดไอเดียในการออกแบบ มี TK Park ซึ่งเน้นเรื่องของหนังสือและการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไปจนถึงโครงการ OTOP โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ที่ประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น และกรุงเทพเมืองแฟชั่น ซึ่งจุดพลุให้ต่างชาติมองเห็นว่า แฟชั่นในไทยมีดี

ทั้งนี้ เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า สมัยนั้นเรามุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมาก แต่กลับไม่ได้ยั่งยืนเท่าที่ควร ครั้งนี้เราจึงมีโครงการหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้กระจายโอกาสให้ทุกพื้นที่จริง ๆ โดยมีหนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัวที่ไม่ได้กำหนดอายุ สามารถลงทะเบียนได้ที่กองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มศึกษาต่าง ๆ อีกทั้ง เราตั้งองค์กร Thailand Creative Content Agency (THACCA) ผ่านการออก พ.ร.บ. โดยเรามี 12 อุตสาหกรรมที่มาร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ กีฬา เพื่อพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยกตัวอย่างวงการอาหาร เราจะมีโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ซึ่งจะอบรมเชฟไทยให้ได้มาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญจากเอกชน หรือมวยไทย เรามีค่ายทั่วโลกกว่า 40,000 ค่าย แต่ยังไม่ได้อบรมเนื้อหาของมวยไทย เราจะทำให้การส่งออกวัฒนธรรมได้มาตรฐานที่สุด

ในส่วนของกลางน้ำ จะพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ เราจะทำ One Stop Service เพื่อรวมเอกสารมากมายให้เป็นที่เดียวให้ง่ายขึ้น และเรามีแผนที่จะรื้อกฎหมาย ซึ่งบางตัวใช้ไป 20-30 ปีแล้ว ดิฉันขอยกตัวอย่างเรื่องกองถ่ายต่างประเทศ ซึ่งเราอยากให้เขามาบ้านเรา เราจึงให้เขาสามารถขอคืนภาษีได้ แต่กองถ่ายไทยกลับไม่ได้ เราต้องปรับปรุงเรื่องนี้ โดยรัฐบาลกำลังทำอยู่ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่

ในส่วนปลายน้ำ คือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำมากเพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ออกไปนอกประเทศ ให้ต่างชาติได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเรา พูดอย่างง่ายจะเป็นเหมือนกับการทำแบรนด์ (branding) ให้ประเทศว่าน่าจดจำอย่างไร ทำให้ส่งต่อวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น