ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด 19 ความรุนแรงของโควิด 19 ขณะนี้ (ธค 2566) เทียบกับไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดในปีแรก (2552)
ในปีแรกของการระบาดด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระยะแรกเราเรียกไข้หวัดหมูบ้าง ที่มีจุดเริ่มต้นจากเม็กซิโกเข้าสู่อเมริกา และวินิจฉัยได้ครั้งแรกที่แคลิฟอร์เนีย องค์การอนามัยโลกเลยมีกฎเกณฑ์ว่าต่อไปนี้จะไม่ใช้ชื่อสถานที่ ชื่อสัตว์ ชื่อบุคคล มาตั้งชื่อไวรัส เลยเรียกเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
เมื่อไวรัสเข้าสู่ประเทศไทย มีการตื่นตระหนกกันพอควร เพราะมีสื่อต่างๆ รวมทั้งบุคคลต่างๆพยายามพูดและคิดว่าจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่สเปน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่และคิดว่าประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างข่าวหรือที่มีการกล่าวถึง
สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ของ H1N1 ในอดีตหรือไข้หวัดใหญ่สเปน ทำให้ผู้ใหญ่ที่สูงอายุจึงมีภูมิคุ้มกันบางส่วน โรคจึงเป็นกับเด็กและวัยกลางคนเป็นจำนวนมาก และเกิดการป่วยเป็นจำนวนมาก อัตราการสูญเสียในการระบาดปีแรก ประมาณ 200 กว่าคน และเข้าสู่ภาวะปกติในปีต่อมา ไวรัสไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน และอัตราการเสียชีวิตในปีต่อๆมา ก็ลดลงมาโดยตลอด
เชื้อโควิด 19 ก็เช่นเดียวกัน ในปีแรก คนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ความรุนแรงของโรคจึงสูงสุดในปีแรก และก็ค่อยๆลดลง เมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้วและสร้างภูมิต้านทาน ที่เกิดขึ้นจากวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ มาจนถึงวันนี้ความรุนแรงของโรค จะเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิต และอยู่ที่ 1-3 รายต่อสัปดาห์ในช่วงฤดูกาล และจะน้อยกว่านี้อีกเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนปีต่อไปซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้ว ก็ไม่น่าจะมากกว่าจำนวนการเสียชีวิตของ ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในการระบาดปีแรก
การพัฒนาสายพันธุ์ของโควิด 19 ขณะนี้มีสายพันธุ์ย่อยเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ยาก ว่าสายพันธุ์ที่จะระบาดปีหน้าคืออะไร การพัฒนาวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด ก็ทำได้ยากพอสมควร การติดเชื้อเป็นแล้วก็เป็นได้อีก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่