xs
xsm
sm
md
lg

กทม.พร้อมปรับปรุงพื้นที่ให้ตอบโจทย์คนใช้วีลแชร์มากขึ้น เดินหน้าขับเคลื่อนงานคนพิการ 5 ด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายปิยะบุตร เทียนคำศรี ประธานทูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังกิจกรรม “พาชมพระนคร” ซึ่งมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารพร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานเขตพระนคร นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ตลอดจนคณะ Access for All คนพิการและผู้ดูแล 130 ชีวิต จาก 44 จังหวัด ร่วมกิจกรรม

โดย นายปิยะบุตร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสฤกษ์งามยามดีใกล้เข้าสู่วาระดิถีขึ้นปีใหม่ จึงได้เชิญชวนพี่น้องคนพิการมาร่วมกิจกรรมเพื่อกราบไหว้ขอพรที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล

นายภาณุมาศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ยังเป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กรุงเทพมหานคร และคณะ Access for All จึงได้จัดให้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมพาชมพระนครในวันนี้ด้วย

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้มีการปรับปรุงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นต้นแบบเส้นทางการท่องเที่ยวตามแนวคิด Tourism for All นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ จึงต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สะดวกสำหรับการเดินทางของคนพิการจริงหรือไม่ พื้นที่ใดที่ยังปรับปรุงได้ไม่ 100% องศาความลาดเอียงที่ยังไม่ตอบโจทย์คนพิการผู้สูงอายุใช้วีลแชร์ จะได้ถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการหรือบุตรหลานของผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์มีความกล้าและมั่นใจในการออกมาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครและรัฐบาลได้มีการร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง และหลายครั้งได้มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนพิการที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมสอบถามมาว่าคนพิการเข้าร่วมได้สะดวกหรือไม่ กรุงเทพมหานครจึงได้วางแนวทาง Bangkok for All เพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดกิจกรรมให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยหากกิจกรรมต่าง ๆ หรือพื้นที่ต่าง ๆ มีสัญลักษณ์ Bangkok for All หมายถึงกิจกรรมหรือพื้นที่นั้น ๆ คนพิการหรือผู้สูงอายุสามารถเดินทางเข้าร่วมได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแนวทาง คาดว่าปีหน้าหากวางแนวทางเรียบร้อยน่าจะมีการทยอยใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในส่วนของกลุ่มคนพิการด้านอื่น เช่น ตาบอด หูหนวก กรุงเทพมหานครจะดำเนินการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่

1.ด้านเรียนดี โดยขณะนี้ทุกองคาพยพภายในกรุงเทพมหานครได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว เช่น มีการเรียนรวม-เรียนร่วม มีการอบรมครูให้ทุกโรงเรียนสามารถดูแลเด็กพิเศษได้

2.ด้านโครงสร้างดีและเดินทางดี ซึ่งได้มีการปรับปรุงทางเท้าให้มีความเป็น Universal Design หลายแห่ง ยังเหลือเรื่องรถโดยสารสาธารณะต่าง ๆ ที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชนและขนส่งขนาดใหญ่ของรัฐกันต่อไป

3.ด้านเศรษฐกิจดี มีการฝึกอาชีพและการจ้างงานคนพิการ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการจ้างงานคนพิการ จำนวน 395 ราย และตั้งเป้าจ้างงานคนพิการให้ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานครแล้ว ก็อยากจะกระตุ้นให้หน่วยงานอื่น ๆ เกิดการจ้างงานคนพิการมากขึ้นด้วย

4.ด้านสุขภาพดี กรุงเทพมหานครได้มีการออกบัตรคนพิการแบบ One Stop Service มีการเยี่ยมบ้านคนพิการเชิงรุก ส่วนสิ่งที่อาจจะต้องติดตามเพิ่มเติม เช่น มอเตอร์แลนซ์มีวิ่งรับคนพิการบ้างหรือไม่ รวมถึงจะทำอย่างไรให้คนพิการที่อยู่ในบ้านเดี่ยวซึ่งไม่ใช่ชุมชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อมข้อมูลไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที เป็นต้น

5.ด้านบริหารจัดการดี กรุงเทพมหานครมุ่งทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ โดยได้จัดทำ Line OA ขึ้น เป็นช่องทางให้ผู้พิการได้ติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ของตัวเอง เพียงเพิ่มเพื่อน @bangkokforall ทางแอปพลิเคชันไลน์