สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ตลอดจนการรวบรวมผลการดำเนินงาน ส่งต่อข้อมูลแก่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงเพื่อสำรวจข้อมูลวิเคราะห์จัดกลุ่มสถานภาพทางการเงินครู แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. สีแดง ถูกฟ้องดำเนินคดีเรื่องหนี้สินทุกกรณี
2. สีส้ม เงินคงเหลือน้อยกว่า 30% และยังไม่ถูกฟ้อง
3. สีเหลือง มีหนี้สินและเงินคงเหลือน้อยกว่า 30%
4. สีเขียว ครูและบุคลากรไม่มีหนี้
ทั้งนี้ ผลสำรวจสถานภาพทางการเงินครู มีบุคลากรที่ลงทะเบียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 533,124 คน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 154,097 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 687,221 คน โดยจำแนกข้อมูลสถานะทางการเงินของครูได้ ดังนี้
1. สีแดง มีจำนวน 2,864 คน
2. สีส้ม มีจำนวน 108,540 คน
3. สีเหลือง มีจำนวน 485,009 คน
4. สีเขียว มีจำนวน 90,808 คน
โดย สพฐ. จะนำตัวเลขดังกล่าวไปดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายวิกฤตมากที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยจะให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยระหว่างพิจารณาคดี,ชะลอการฟ้อง,ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งพัฒนาความรู้เรื่องการเงิน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รวมถึงติดตามการดำเนินการในสถานีแก้หนี้ทุกพื้นที่ เพื่อให้การแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความอุ่นใจให้ครูไทยทั่วประเทศกลับมายิ้มได้อีกครั้ง และทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมของเงินทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 200 ล้านบาท ปล่อยให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 500,000 บาท(ห้าแสนบาท) เริ่ม 27 พ.ย.2566