เพจสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ระบุว่า ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ดาวเทียมของ NASA ได้จับภาพกลุ่มหมอกควันหนาทึบทางตอนเหนือของประเทศอินเดียปรากฏเป็นกลุ่มสีเทาในภาพ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวท้องฟ้ามืดครึ้มและคุณภาพอากาศแย่ลง
สาเหตุก็เนื่องมาจากการเผาไหม้ของภาคเกษตรผสมกับมลภาวะในเมืองที่เกิดจากการจราจรและอุตสาหกรรม การปลดปล่อยควันไฟจากภาคครัวเรือน ประกอบกับฝุ่นที่มากับกระแสลมและมลภาวะจากอีกหลากหลายแหล่ง อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือสภาพอากาศตามฤดูกาลที่ช่วงนี้อากาศจะไม่ค่อยถ่ายเท จึงดักฝุ่นหรือมลพิษต่างๆไว้นั่นเอง
ภาพดังกล่าวถ่ายด้วยดาวเทียม Aqua (MODIS) ของ NASA บันทึกภาพหมอกควันที่ปกคลุมภูมิภาคนี้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นอกจากอินเดียแล้วภาพถ่ายดาวเทียมยังชี้ให้เห็นกลุ่มควันที่ปกคลุมทางตอนเหนือของปากีสถานเป็นพื้นที่กว้างเช่นกัน
ในวันเดียวกันระบบติดตามคุณภาพอากาศภาคพื้นดินที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการควบคุมมลพิษกลางของอินเดีย, the Delhi Pollution Control Committee, the U.S. State Department, และ Nepal’s Department of Environment ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่ในภาพว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่จากการตรวจวัดและติดตามคุณภาพอากาศภาคพื้นดินในบริเวณในภาพนี้ บ่อยครั้งที่มีค่าปริมาณ PM 2.5 สูงถึง 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และบางครั้งอาจเกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในช่วงเดือนพฤศจิกายน
เมื่อคุณภาพอากาศแย่ลง และข้อมูลจากดาวเทียมบ่งชี้ถึงพื้นที่ที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้แพทย์เรียกร้องให้ประชาชนงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งเนื่อจากมีรายงานว่ามีประชาชนป่วยเกี่ยวกับปัญหาระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ปัญหาหมอกควันที่หนาแน่นนี้ทำให้มีการออกมาตราการเร่งด่วน เช่น การระงับการก่อสร้างชั่วคราว จำกัดการใช้ยานพาหนะ และการปิดโรงเรียน เป็นต้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Morgan State ปฏิบัติการที่ Goddard Space Flight Center ของ NASA ได้ใช้ดาวเทียมสำรวจเกี่ยวกับพืชพรรณและศึกษาเหตุการณ์ไฟไหม้ในภูมิภาคในทุกฤดูใบไม้ร่วง โดยเขารายงานว่า “จำนวนไฟที่ตรวจพบโดยดาวเทียมในปีนี้น้อยลง โดยเฉพาะในรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา ลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ 5 ปีที่ตรวจวัดโดยระบบ MODIS ของ Aqua แต่ก็ยังคงสูงพอที่จะทำให้คุณภาพอากาศของพื้นที่เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้”
จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเผาจากภาคการเกษตรกับปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ศึกษาโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย พบว่าหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของปัญหามลพิษในอากาศหรือ PM 2.5 มาจากการเกิดไฟป่าเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
Ritesh Gautam นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศที่เคยทำงานที่ NASA และปัจจุบันกำลังร่วมงานกับกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม ได้วิเคราะห์แนวโน้มในระยะยาวของการเกิดเพลิงไหม้ หมอกควัน และเสถียรภาพของชั้นบรรยากาศในภูมิภาค
เขาพบว่าจำนวนไฟป่าที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 สัมพันธ์กับปริมาณหมอกควันที่เต็มไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศ (Aerosol) ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์บนภาพถ่ายจากดาวเทียมในเดือนพฤศจิกายนโดยเฉพาะในชั้นล่างของชั้นบรรยากาศ Troposphere ซึ่งเป็นชั้นที่มนุษย์เราใช้หายใจ
พวกเขายังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจาก Aerosol พบว่าการเพิ่มขึ้นของการเผาไหม้จากภาคการเกษตรมีส่วนส่งเสริมให้บรรยากาศอุ่นขึ้นและทำให้พื้นดินเย็นลง เพิ่มโอกาสที่จะเกิดการผกผันของอุณหภูมิ สภาวะนี้ส่งผลให้เกิดการกักเก็บมลพิษไว้ใกล้พื้นผิว และทำให้ปัญหาหมอกควันมีความรุนแรงมากขึ้นอีก