นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ ประเมินพรรคเพื่อไทยชักช้าส่งหนังสือกู้เงิน 5 แสนล้านบาทให้กฤษฎีกาพิจารณาและถ่วงรั้งนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ให้สภาพิจารณา พร้อมประโคมปั่นภาวะเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตรุนแรง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเกมยื้อรอเวลาให้ ส.ว.หมดวาระในเดือน พ.ค.ปี 2567
นายจตุพร กล่าวย้ำว่า การหมดวาระของ ส.ว.ในปี 2567 จึงสอดคล้องกับการแจกเงินดิจิทัลที่ขยับไป พ.ค.เช่นกัน ขณะที่ความนิยมเพื่อไทยจมดิ่งติดลบหมดหน้าตัก เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรค ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกประชาชน
อีกทั้งนายธนาธร เก็บตัวเงียบมานาน ดังนั้นการเปิดตัวแสดงความเห็นวิจารณ์รัฐบาลกู้เงินมาแจก พร้อมเน้นว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นพรรคมิตรกันและกัน จึงถูกตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงการเมืองหลัง 11 พ.ค. 2567 เมื่อ สว.หมดวาระ เพื่อไทยส่อแนวโน้มจะจับมือกัน เพื่อพลิกสถานการณ์ความนิยมของเพื่อไทยให้กลับมาเป็นฮีโร่ราวกับออกแบบแยบยลทางการเมืองเอาไว้แล้ว
"พรรคเพื่อไทยที่ความนิยมติดลบ ยากจะกลับมาฟื้นความนิยมได้ แต่มีทางเดียวเท่านั้นคือ กลับไปจับมือกับพรรคก้าวไกลสองพรรค (ตั้งรัฐบาลหลัง สว.หมดวาระ) รวมกว่า 290 เสียง คนก็โห่ร้องที่เพื่อไทยไปจับมืออีกฝ่ายตั้งรัฐบาลนั้น เป็นการวางแผนอย่างแยบยล คิดใหญ่ ทำเป็นจริงๆ และเรื่องนี้ได้สร้างความระแวงทางการเมืองให้เกิดขึ้น"
ส่วนสถานการณ์เงินกู้มาแจกหมื่นบาทนั้น นายจตุพร กล่าวว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สะท้อนความอัดอั้นตันใจที่ถูกกล่าวหาล่าช้าต่อการพิจารณาความเห็นการกู้เงิน เพราะแกนนำพรรครัฐบาลเพื่อไทยล้วนระบุส่งเรื่องกู้เงินให้กฤษฎีกาแล้ว แต่ความจริงคือ หนังสือยังไม่ส่งถึงกฤษฎีกาเลย ดังนั้น แกนนำรัฐบาลไม่รู้หรือว่า ไม่มีหนังสือสอบถามไปยังกฤษฎีกา แล้วทำไมต้องมาโกหกหลอกลวงซ้ำเดิมให้ประชาชนหลงเชื่ออีก
อย่างไรก็ตาม เลขากฤษฎีกาให้ความเห็นถึงการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ถ้าหนังสือส่งมาให้วินิจฉัย จะทำหน้าที่ตอบคำถามของรัฐบาลเท่านั้น แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ส่งหนังสือมาสอบถาม
"ถ้าเรื่องการกู้เงิน เอาตามองค์ประกอบกฎหมาย (ม.53 พรบ.วินัยการเงินการคลังปี 2561) ระบุต้องเร่งด่วน เกิดวิกฤตประเทศ และทำ พรบ.งบประมาณรายจ่ายไม่ทัน ถ้าอ้างเร่งด่วนจริงแล้ว แค่ร่าง พรบ.งบประมาณยังไม่เร่งด่วนเข้าสภาเลย อีกทั้งทำไมร่างหนังสือถึงกฤษฎีกาจึงไม่เร่งด่วนเพื่อส่งไปสอบถามความเห็น จึงทำให้เกิดความสงสัยกัน"
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งนี้จึงเป็นการผิดสังเกตที่รัฐบาลดึงทั้ง ร่าง พรบ.งบประมาณ และส่งร่างหนังสือเงินกู้ให้กฤษฎีกาพิจารณา ทั้งที่สามารถทำให้เสร็จได้ฉับพลันในวันเดียว แต่กลับชักช้า อืดอาด ไม่ทำงานให้เร่งด่วนตามการกล่าวอ้างถึงเศรษฐกิจประเทศเข้าขั้นวิกฤตแล้ว
ส่วนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายจตุพร สงสัยว่า ทำไมไม่ยอมพูดถึงการชี้แจงเท็จของพรรคเพื่อไทยในกรณีโครงการแจกเงินดิจิทัล จึงแสดงถึงการทำงานตรวจสอบที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ผ่านการเลือกมานานหลายเดือนทำได้แค่ทวงวัวหนึ่งตัวจากประชาชนที่ขอจากผู้สมัครเลือกตั้ง
"สิ่งสำคัญแล้ว กกต.ต้องคำรามถึงเพื่อไทยที่มาให้รายละเอียดโครงการดิจิทัลเป็นเท็จ เพราะบอกแหล่งที่มาเงินจะมาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณ โดยไม่กู้เงินมาแจก แต่บัดนี้กลับเปลี่ยนทั้งคุณสมบัติของผู้รับแจก และที่มาของเงินที่ต้องกู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเข้าข่าย จงใจ หลอกลวงผู้ลงคะแนน"
รวมทั้งมั่นใจว่า รัฐบาลยากจะแจกเงินดิจิทัลได้สำเร็จตามประกาศหาเสียงไว้กับประชาชน เพราะขณะนี้เลขากฤษฎีกาออกมาพูดชัดเจนมากที่จะให้ความเห็นตามกฎหมาย ยิ่งสิ่งสำคัญต้องเข้าองค์ประกอบตาม ม.53 ของ พรบ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเน้นถึงวิกฤต แล้วเร่งด่วน และทำงบประมาณไม่ทัน โดยรัฐบาลไม่เอาเข้าสภา เพราะจงใจดึงเรื่องเอาไว้
นายจตุพร กล่าวย้ำว่า รัฐบาลเอาแต่หลอกลวงประชาชนซ้ำซาก เน้นแต่อ้างประเทศเกิดวิกฤต ต้องกู้เงินเร่งด่วนมาแจก ส่วนหนังสือไม่ส่งกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นเป็นด่านแรก นอกจากนี้ ร่าง พรบ.งบประมาณยังชักช้าไม่นำเข้าสภา ดูประหนึ่งจงใจดึงเรื่องให้เกิดวิกฤตกับประเทศเพื่อมากล่าวอ้างความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงิน
"การหลอกต้มประชาชนผสมคำพูดของนายธนาธร จงใจบอกถึงเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นมิตรกัน ย่อมคลี่คลายให้เห็นเกมรัฐบาลต้องดึงการแจกเงินดิจิทัลไป พ.ค. 67 ซึ่ง สว.จะหมดวาระลง จึงเป็นความสงสัยที่ถูกนักวิเคราะห์ทางการเมืองนำมาประเมินเกมโกหกลวงหลอกซ้ำซากของเพื่อไทย โดยหวังฟื้นเสียงนิยมให้กลับมา และคงเป็นซอฟพาวเวอร์อย่างหนึ่งที่ร้อนแรงต้มเปือยยิ่งกว่าหมูกระทะเสียอีก
ประเทศไทยต้องมาก่อน