นายประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนมกราคม ถึง เมษายน 2567 โดยมีการประมาณการค่า Ft อยู่ที่ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย จาก 3.99 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน การประมาณการดังกล่าวอาจเป็นการประมาณการที่สูงกว่าความเป็นจริง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ควรทบทวนข้อมูลใหม่ เพราะที่คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 จะมีการผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และซื้อไฟฟ้าจากเอกชน มากถึง 70,219 ล้านหน่วยนั้น น่าจะเป็นการคาดการณ์ที่สูงเกินจริงไปมาก เนื่องจาก กกพ. คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟในเดือนมกราคมถึงเมษายน เพียง 62,913 ล้านหน่วยเท่านั้น การจัดหาไฟฟ้าที่มากเกินไปดังกล่าวทำให้เป็นการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการใช้ถึง 7,306 ล้านหน่วย หรือเป็นค่าไฟฟ้าถึง 21,187 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายประสาท ยังเห็นว่า การประมาณการราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติที่สูงนั้น มีเหตุมาจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าถึง 35.83 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนการประมาณการ จึงไม่เหมาะสม เพราะค่า Ft เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายรอบบิลค่าไฟฟ้า 4 เดือน จึงควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนย้อนหลัง 4 เดือนเช่นกัน
ซึ่งจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำลง อีกทั้งราคาค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ใช้ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเท่ากับ 93.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ก็ไม่มีคำชี้แจงแหล่งที่มาของราคาน้ำมันดิบมีเพียงการอ้างแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากสงครามอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส และสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่เชื่อถือไม่ได้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก กกพ.จึงควรใช้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการมาเป็นฐานประมาณการต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและก๊าชธรรมชาติ ซึ่งหากคิดเฉลี่ย 4 เดือนในช่วงเดือน มิถุนายน ถึงกันยายน ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 83.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น
นอกจากนี้ ในการประมาณการต้นทุนก๊าซ LNG ที่ ปตท.อ้างว่าในเดือนพฤศจิกายน 2566 ราคา LNG ตลาดร่วม แต่จัดหาได้มีราคาฉลี่ยเท่ากับ 16.61 เหรียญสหรัฐล้านบีทียูนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า เป็นราคาที่กกพ. ควรต้องมีการทบทวนตรวจสอบใหม่ เพราะมีข้อมูลปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน ราคา LNG ส่งออกของสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยนำเข้าตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าราคา LNG ส่งออกของสหรัฐอเมริกาลงมาอยู่ที่ 6.45 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หากพิจารณาเปรียบเทียบราคา LNG ญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2566 ก็อยู่ที่ระดับราคาประมาณ 12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเท่านั้น ซึ่งการอ้างของ ปตท. ว่าจัดหา LNG ได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ กกพ. ควรได้ดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ อยู่ในภาวะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ และมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยหรือมีการเดินเครื่องเพียงเล็กน้อย แต่ กฟผ. ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 8 โรงไฟฟ้าจากทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้ามาหลายงวด Ft แล้ว กฟผ. จึงย่อมมีอำนาจในการเจรจาต่อรองการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) ที่จะไม่ควรรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย มิใช่ผลักภาระทั้งหมดมาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ประชาชนต้องรับผิดชอบแทนทั้งหมดเช่นนี้
สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นค่า Ft จากที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน และขอให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ทบทวนข้อมูลการคิดค่า Ft ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน พิจารณาลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลควรใช้หลักการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาก๊าซนำเข้า โดยนําราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีนำมาใช้คิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย จะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยรวมมีราคาถูกลง