นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ แก้ไขคำว่า "ชาย" "หญิง" "สามี" "ภริยา" และ "สามีภริยา" เป็น "บุคคล" "ผู้หมั้น" "ผู้รับหมั้น" และ "คู่สมรส" เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัญมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 66 ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน
อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 – 14 พฤศจิกายน 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป