xs
xsm
sm
md
lg

“ร่มธรรม”แนะ รบ.ฟังแบงก์ชาติ ทบทวนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ห่วงทำเศรษฐกิจเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยจะเติมเงินให้กับประชาชนสัญชาติไทยทุกคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในเฉพาะร้านค้าชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตร ซึ่งได้แจ้งที่มาของแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการให้แก่ กกต. ว่า มาจากการบริหารงบประมาณ และการเก็บภาษี ประกอบด้วย

1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2567 ประมาณ 260,000 ล้านบาท
2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย ประมาณ 100,000 ล้านบาท
3. การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินในปี 2567 ประมาณ 110,000 ล้านบาท
4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน ประมาณ 90,000 ล้านบาท

รวมแล้วเป็นเงินกว่า 560,000 ล้านบาท โดยเป็นการบริหารงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ไม่ได้มาจากการกู้เงินเพื่อมาแจกแต่ประการใด ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดที่มาของงบประมาณกลับเริ่มคลุมเครือ ขาดความชัดเจน และเริ่มมีการให้ข่าวในภายหลังว่าจะเป็นการกู้เงินมาแจก ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลหาเสียงไว้ รวมถึงเงื่อนไขโครงการทั้งในส่วนของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งคนในรัฐบาลเองก็ออกมาสื่อสารไปคนละทิศคนละทาง กลับไปกลับมา จนสร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้นโยบายดังกล่าวถูกพูดถึงและถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงคนในแวดวงการเงินการธนาคารเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างคุณวิรไท สันติประภพ และคุณธาริษา วัฒนเกส พร้อมด้วยคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศมากกว่า 133 คน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย และไม่มีความจำเป็นที่จะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ งบประมาณที่รัฐต้องใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตป็นจำนวนเงินมากกว่า 500,000 ล้านบาท เป็นการเบียดเบียนงบประมาณในการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และโครงการพัฒนาด้านเพื่อความยั่งยืนด้านอื่น ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการเติบโตและพัฒนาศักยภาพในระยะยาวของประเทศ

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ออกมาแถลงข่าวถึงที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการมาจากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ก็เคยออกมาแสดงความกังวลถึงนโยบายดังกล่าวที่ไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแต่ควรกระตุ้นการลงทุนมากกว่า ทั้งหมดนี้ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยมากขึ้นไปอีกว่าการกู้เงินเพื่อมาแจก จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ จะขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ เนื่องจากไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณประจำปีได้อย่างไร

โดยสรุปแล้ว นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง มาจนในช่วงที่ได้เป็นรัฐบาลปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่เหลือเค้าเดิมของนโยบายที่ใช้หาเสียงเลย ตั้งแต่งบประมาณที่ใช้ เงื่อนไขการแจก ระบบที่ใช้ และระยะเวลาในการแจก เพราะเมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงในการบริหารบ้านเมืองแล้วก็ไม่สามารถทำตามที่พูดไว้ได้ ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการ และความคุ้มค่าของการแจกเงินตามนโยบายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนในอนาคต นอกจากนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจมีปัญหาในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้นโยบายโฆษณาหาเสียงเกินจริง และไม่เป็นไปตามรายละเอียดที่เคยยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ ซึ่ง กกต.ต้องออกมาชี้แจงและสร้างบรรทัดฐานว่าต่อไปพรรคการเมืองจะหาเสียงด้วยนโยบายที่ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำนโยบายไปปฏิบัติ ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ต่อไป