รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยเทศกาลลอยกระทง เป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของชาวไทย เพื่อบูชาและระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา รวมทั้งประชาชนยังนิยมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และปล่อยโคมลอยเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันลอยกระทง แต่ปรากฎว่าในช่วงเทศกาลลอยกระทงมีการเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นดอกไม้เพลิง การจุดพลุ และเกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนจากการปล่อยโคมลอย รวมทั้งอุบัติเหตุทางถนน ทางน้ำ และเรือล่ม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
สำหรับวันลอยกระทงในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.66 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รณรงค์มาตรการ 3 ปลอด คือ 1.ปลอด..จากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100%(โฟม เข็มหมุด ตะปู ลวดเย็บกระดาษ) 2.ปลอด..จากประทัด โคมลอย พลุ (ห้ามขาย ห้ามจุด ห้ามปล่อย) 3.ปลอด..อันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง (ตรวจความมั่นคง แข็งแรงและจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโป๊ะ - ทำเรือ) เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะท่าเทียบเรือโดยสารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากท่าเทียบเรือพัง โป๊ะล่ม รวมทั้งความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และอันตรายจากการเล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น
กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 เพื่อกำหนดมาตรการและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์สาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่อาจเกิดขึ้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัย และลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยกำหนดมาตรการ แนวทาง และขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อนเทศกาลลอยกระทง (ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป) ขั้นปฏิบัติการระหว่างเทศกาลลอยกระทง และขั้นปฏิบัติการหลังเทศกาลลอยกระทง
รวมทั้งได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 และขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนผู้จัดงานเทศกาลลอยกระทง และประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร