xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคเตรียมยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช.เอื้อผูกขาดกิจการโทรคมนาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” เพื่อแสดงความผิดหวังและแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ กสทช. โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ทั้งกรณีมีมติรับทราบการควบรวมทรู - ดีแทค และการอนุญาตให้ควบรวม AWN - 3BB

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคถึงกับมืดมนว่าจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช.กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวของ กสทช.ในการคุ้มครองผู้บริโภคมี 3 ประการ ประการแรกคือ การลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรู - ดีแทค โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน แต่ในการประชุมลงมติกรณี AWN - 3BB ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องมีการตัดสินที่ผิดพลาดในเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังได้อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างค่าย AWN - 3BB ที่เป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในการรับบริการโทรคมนาคมที่ถูกเอาเปรียบการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจเอกชน

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในเรื่องการควบรวมโดยมีข้อมูลการสำรวจตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประมาณ 2,700 คน โดยปัญหาพบปัญหาคุณภาพการใช้บริการลดลง ค่าโปรโมชั่นแพงขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดเผยผลสำรวจที่ลงลึกมากขึ้น

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทคมีการประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยในการกรณีที่มีการแข่งขันตามปกติในตลาดโทรคมนาคมอย่างในปัจจุบัน ค่าบริการอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 - 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการ “ฮั้วราคา” อาจจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงในร้อยละ 20