นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า [ ครบจบในโพสต์เดียว ]
[ เรามีทางเลือกอะไรบ้าง ในการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 13 เรื่องกติกา “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” (Double Majority) ? ]
ปัจจุบัน ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ประชามติ ที่หลายฝ่ายมีความกังวล คือกติกา “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” (Double Majority) ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. ประชามติ ว่าประชามติจะนับว่ามีข้อยุติหรือมีผลต่อเมื่อผ่าน เกณฑ์ 2 ชั้น
(1) “มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง” (ชั้นที่ 1)
(2) “มีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” (ชั้นที่ 2)
แม้ข้อกังวลต่อกติกานี้ถูกพูดถึงมากขึ้นในบริบทของการจัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ต้องย้ำว่าข้อกังวลนี้เป็นข้อกังวลที่กระทบการจัดทำประชามติในทุกๆเรื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องใดๆก็ตาม
ข้อกังวลอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน: ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 1 และ ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 2
[ ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 1 = ข้อกังวลต่อยุทธศาสตร์ “นอนอยู่บ้าน คว่ำประชามติ” ]
สำหรับผม ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 1 เป็นข้อกังวลหลัก เพราะเกณฑ์ดังกล่าวอาจกระทบความเป็นธรรมของการจัดประชามติ เนื่องจากเปิดช่องให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” กับประเด็นที่ถูกถามในประชามติ สามารถใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ แม้ในกรณีที่ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” มีน้อยกว่าฝ่ายที่ “เห็นด้วย” ก็ตาม
ยกตัวอย่างประชามติในประเด็นที่มี คนเห็นด้วย 40 คน / ไม่เห็นด้วย 30 คน / ไม่สนใจออกมาใช้สิทธิ 30 คน - หากเป็นเช่นนี้ ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” 30 คน จะมีแรงจูงใจในการใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” ไม่ออกมาใช้สิทธิ เพราะพวกเขารู้ว่าหากออกมาใช้สิทธิแล้ว จะแพ้ฝ่ายที่ “เห็นด้วย” และประชามติจะผ่าน
แต่ในทางกลับกัน หากพวกเขาไม่ออกมาใช้สิทธิ พวกเขา 30 คน และคนที่ไม่สนใจออกมาใช้สิทธิอยู่แล้ว 30 คน จะมีรวมกันเป็น 60 คน จนทำให้สัดส่วนคนออกมาใช้สิทธิ จะเหลือแค่ 40 คน (ที่ “เห็นด้วย”) และทำให้ประชามติตกไป
หากจะปรับเกณฑ์ชั้นที่ 1 เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ทางเลือกหลักๆจึงมี 2 ทางเลือก
ทางเลือก 1 = ตัดเกณฑ์ชั้นที่ 1 ออกไป
ทางเลือกนี้ จะทำให้ประชามติจะมีผลหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับเพียงเกณฑ์ชั้นที่ 2 ที่วัดจากว่าคนที่ออกเสียงมีการลงคะแนนอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงว่าจำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงมีจำนวนหรือสัดส่วนเท่าไหร่
ทางเลือก 2 = ปรับวิธีการเขียนเกณฑ์ชั้นที่ 1 เพื่อป้องกัน
ทางเลือกนี้ คือการคงไว้ถึงเกณฑ์ที่ยังให้ความสำคัญกับจำนวนหรือสัดส่วนคนที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง เพียงแต่อาจเป็นการปรับวิธีเขียนเพื่อตัดแรงจูงใจที่คนจะใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ
วิธีหนึ่งคือการปรับจากการเขียนจากปัจจุบัน:
“มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกิน 50% ของผู้มีสิทธิออกเสียง”
ปรับมาเป็น:
“มีจำนวนเสียง (เห็นชอบ) เกิน 25% ของผู้มีสิทธิออกเสียง”
นั่นหมายความว่า นอกจากคน “เห็นชอบ” จะต้องมีมากกว่าคน “ไม่เห็นชอบ” แล้ว จำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิและลงคะแนนเห็นชอบต้องมีมากกว่า 25% ของผู้ “มี” สิทธิออกเสียง
ตัวเลข 25% นี้มาจากการตั้งคำถามว่าหากเรายึดกติกาเกณฑ์ 2 ชั้น แบบเดิมตาม พ.ร.บ. ประชามติ อะไรคือประชามติที่มีคนออกมาใช้สิทธิและลงคะแนนเห็นชอบน้อยที่สุด แต่ยังคงมีผลตามกติกา?
คำตอบคือ “เกิน 25%” เพราะหากมีคนออกมาใช้สิทธิ 50% และในบรรดาคนที่ออกมาใช้สิทธิ มีคนลงคะแนน “เห็นชอบ” เกิน 50% ของคนที่ออกมาใช้สิทธิ (ซึ่งคิดเป็น เกิน 25% ของผู้มีสิทธิ) ประชามติก็จะมีผลตามกติกาเดิมของ พ.ร.บ. ประชามติ
ดังนั้น การปรับเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นการคงไว้ถึงเจตนาของกติกาเดิม แต่ปรับวิธีการเขียนเพื่อทำให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” ไม่มีแรงจูงใจและไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไปจากการใช้ยุทธศาสตร์ “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ แต่พวกเขาจะมีแรงจูงใจในการออกมาใช้สิทธิและทำเต็มที่ในการรณรงค์ให้คนออกมาลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ”
บทความเต็ม + infographic ในประเด็นนี้: https://www.facebook.com/paritw/posts/pfbid02V1eUzCZKHkhcejJkQFMfhZxBibiPxT7RtURxeUofCpyuf4zuqkfAA6rX7uB5kMoFl
[ ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 2 = “เกินกึ่งหนึ่ง” vs. “เสียงข้างมาก” ]
สำหรับผม ข้อกังวลต่อเกณฑ์ชั้นที่ 2 ไม่ได้เป็นข้อกังวลหลัก แต่ในเมื่อคุณนิกร จำนง จากคณะกรรมการศึกษาฯของรัฐบาล เคยให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับความเห็นต่อเกณฑ์ชั้นที่ 2 ผมเลยขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกคนเข้าใจมุมมองทุกฝ่าย
ประเด็นหลักที่เป็นข้อถกเถียงกันในเกณฑ์ชั้นที่ 2 คือประเด็นว่าเราควรใช้เกณฑ์ “เกินหนึ่งหนึ่ง” (แบบที่เป็นอยู่) หรือเกณฑ์ “เสียงข้างมาก” (แบบที่บางฝ่ายเสนอ) ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
ต่างกันอย่างไร ลองไปดูตัวอย่างดังกล่าวครับ:
หากสมมุติประชามติมี 9 คนที่ออกมาใช้สิทธิ โดย 4 คน “เห็นด้วย” / 3 คน “ไม่เห็นด้วย” / 2 คน “งดออกเสียง”
ฝ่ายที่เห็นด้วย 4 คน จะไม่ถูกนับว่ามีเสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” (เพราะ 4/9 < 50%) แต่จะถูกนับว่าเป็น “เสียงข้างมาก” เพราะมีมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วย (เพราะ 4 > 3) และมีมากกว่าคนที่งดออกเสียง (เพราะ 4 > 2)
ดังนั้น การใช้เกณฑ์ “เกินหนึ่งหนึ่ง” จึงเป็นการกำหนดเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์ “เสียงข้างมาก” - เกณฑ์สูงแบบนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับมุมมอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหากเรามีประชามติที่มี 3 ตัวเลือกคำตอบเป็นต้นไป (เช่น ก. / ข. / ค.) การที่ตัวเลือกคำตอบใดจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก แม้จะเป็นตัวเลือกคำตอบที่มีคนสนับสนุนมากกว่าตัวเลือกคำตอบอื่นๆก็ตาม (อาจเปรียบเทียบตรงๆไม่ได้ แต่สถานการณ์จะคล้ายกับเวลาเราเลือก สส. เขต ที่มักมีผู้สมัคร 3 คนขึ้นไป แต่คนที่ชนะเป็นอันดับ 1 ก็มักไม่ได้คะแนนเสียงเกิน 50% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ)
[ สรุปจุดยืนผม: เกณฑ์ชั้นที่ 1 ต้องเลิกหรือแก้ / เกณฑ์ชั้นที่ 2 จะแก้หรือไม่ก็ได้ ]
เมื่อเรารวบรวมทางเลือกหลักในการปรับแก้เกณฑ์ชั้นที่ 1 และเกณฑ์ชั้นที่ 2 การแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ จึงแบ่งออกเป็น 5 ทางเลือกหลักๆ (A / B / C / D / E)
ส่วนตัว ผมเห็นถึงความเหมาะสมในการแก้ไขเกณฑ์ชั้นที่ 1 (ไม่ว่าจะยกเลิก หรือ ปรับวิธีการเขียน) เพื่อทำให้ประชามติทุกๆเรื่องในอนาคตมีความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม แต่เกณฑ์ชั้นที่ 2 เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าไม่เร่งด่วนหรือจำเป็นเท่า โดยจะแก้หรือไม่ก็ได้
ดังนั้น ทางเลือก B / C / D / E จึงเป็นทางเลือกที่ผมคิดว่าไปต่อได้ โดยหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ กกต. ในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา ( https://www.facebook.com/paritw/posts/pfbid0tkTdUTQCg96Ww4CgGNp4wXabSqejomwk68pd7KwAfL6TgrodJ4NeR61SGu9DXKW2l ) ผมได้ฝากให้ กมธ. จากพรรคอื่น นำประเด็นดังกล่าวไปปรึกษากับภายในพรรคตนเอง เพื่อหวังว่าหากรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกัน เราจะได้ร่วมกันผลักดันให้การแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ สำเร็จได้ทันทีที่สภาฯเปิดกลางเดือนธันวาคม เพื่อให้ไม่กระทบกับกรอบเวลาในการจัดประชามติและกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
#ประชามติเป็นธรรม
#FairReferendum