นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากนายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ว่า นายภัคพงศ์ ผาทอง หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 00.25 น. และเวลา 00.45 น. เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรวจกระเป๋าสัมภาระที่ต้องสงสัยว่าจะมีการลักลอบขนสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 2 ราย บริเวณเคาเตอร์สายการบิน อาคารผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
รายแรก เวลาประมาณ 00.25 น. ตรวจพบเต่ามีชีวิต จำนวน 29 ตัว งูมีชีวิต จำนวน 5 ตัว ตะกวดมีชีวิต จำนวน 3 ตัว ตุ๊กแกมีชีวิต จำนวน 8 ตัว จิ้งจกมีชีวิต จำนวน 4 ตัว กิ้งก่ามีชีวิต จำนวน 1 ตัว อิกัวน่ามีชีวิต จำนวน 1 ตัว และมังกรโคโมโดมีชีวิต จำนวน 3 ตัว มูลค่าประมาณ 450,000 บาท ซึ่งเป็นกระเป๋าเดินทางของ MR. JOSEF อายุ 52 ปี สัญชาติอิสราเอล
รายที่สอง เวลา 00.45 น. ตรวจพบสัตว์ป่าควบคุม บึ้ง จำนวน 39 ตัว และอีกัวน่า จำนวน 5 ตัว มูลค่าประมาณ 10,300 บาท เป็นกระเป๋าเดินทางของ MR. YEONSOO อายุ 24 ปี สัญชาติเกาหลีใต้
เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ตามความผิดพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 24 ความผิดส่งออกสัตว์ไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 โดยเจ้าหน้าที่ได้นำส่งเรื่องสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับของกลางได้ส่งมอบไว้ที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อดูแลต่อไป
สำหรับความร่วมมือในการปฏิบัติงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือของคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมาย เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand WEN) ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่า และพืชป่าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย