แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วน "Quick Win" ของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็น High Medical Technology ส่งเสริมการใช้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ คือ เครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic assisted gait training) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพิ่มการทรงตัวและความมั่นคงในขณะเดินให้แก่ผู้ป่วย คนพิการ โดยกรมการแพทย์มีการนำมาใช้ใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกเดินด้วยเครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic assisted gait training) ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ และผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะได้ฝึกเดินบนสายพานเลื่อนที่มีโครงพยุงน้ำหนักตัวและมีขาของหุ่นยนต์ปะกบกับขาของผู้ป่วย ซึ่งขาของหุ่นยนต์ จะขับเคลื่อนด้วยระบบคอมพิวเตอร์คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยเดินด้วยจังหวะและท่าทางการเดินคล้ายธรรมชาติ ซึ่งคล้ายคลึงกับการทรงตัวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน มีความถูกต้องตามรูปแบบการเดินมากที่สุด ปลอดภัย และสามารถฝึกฝนซ้ำๆ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้การเคลื่อนไหวทำให้ผู้ป่วย สามารถพัฒนารูปแบบการเดินและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาได้มากขึ้น โดยมีการฝึกเดิน 3 -5 ครั้งต่อสัปดาห์ ระยะเวลาในการฝึกครั้งละ 30 -45 นาที โดยประมาณ 12 - 20 ครั้งของการรักษาจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic Gait Training) มาให้บริการเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือที่มีอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับ 1 จาก 5 อันดับของโรคทางระบบประสาท สามารถเข้าถึงและรับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2562 จนถึง ณ ปัจจุบัน มีผู้รับบริการ รวมทั้งสิ้น 2,391 ครั้ง และผู้รับบริการมีความพึงพอใจ คิดเป็นร้อยละ 97
ทั้งนี้ การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดิน ร่วมกับการฝึกทางกายภาพบำบัดมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับมาเดินได้เองมากกว่าการฝึกทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว และทำให้การทรงตัวดีขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ มีผลทำให้การทรงตัวในการยืนและการย้ายตัวของผู้ป่วยดีขึ้น