รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า Update COVID-19
ปรากฏการณ์โรคระบาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แม้ยุคนี้จะเป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่างๆ มากกว่าในอดีต
แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทำให้มีคนติดเชื้อ ป่วย และตายจำนวนมากทั่วโลก ทั้งๆ ที่มนุษย์สามารถคิดค้นวัคซีนเพื่อช่วยลดความรุนแรง และยาเพื่อใช้รักษาโรคขึ้นมาได้ในเวลาไม่นาน
โรคระบาดตั้งแต่อดีตกาล ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ได้แก่ กาฬโรค ฝีดาษ อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่ เอชไอวี/เอดส์ รวมถึงโควิด-19 ในยุคปัจจุบัน (รูปที่ 1)
โรคระบาดคงไม่จบเพียงเท่านี้ แต่ในอนาคตย่อมมีโอกาสที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ได้เสมอ การพัฒนาสมรรถนะในการรับมือกับภัยคุกคามจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการฝึกให้ตนเองมีทักษะในการค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน ใส่ใจสุขภาพ ลดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง
ที่สำคัญคือ การเรียนรู้จากบทเรียนความสูญเสียที่ผ่านมาว่ามีเหตุจากอะไร เพื่อหาทางจัดการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เพราะสุดท้ายแล้ว เวลาตกอยู่ในภาวะวิกฤติจริงขึ้นมา แต่ละคนแต่ละครอบครัวก็มักต้องยืนบนขาของตนเอง เพื่อเผชิญกับเรื่องนั้น
Omicron: ยุคที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเป็นคนแพร่เชื้อได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ
งานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน medRxiv เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (รูปที่ 2-4)
ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ของไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่อัลฟ่า เดลต้า และโอมิครอนที่ระบาดตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้
เด็กและวัยรุ่นดูจะเป็นแนวโน้มที่จะเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ (Source of infection) มากขึ้นในยุคโอมิครอน มากกว่าช่วงการระบาดของอัลฟ่าและเดลต้า
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพเด็กๆ และวัยรุ่น ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ ดูแลป้องกันตนเองระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน และคอยสังเกตอาการไม่สบาย เพื่อแยกตัวไปรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทั้งในบ้าน และที่สถานศึกษา