นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน 2566 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 888,666 ล้านบาท หดตัว 0.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัว 1.0%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 8.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 825,310 ล้านบาท หดตัว 10.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2566 เกินดุลเท่ากับ 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 63,355 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทำให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – กันยายน ปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ7,268,400 ล้านบาท หดตัว 3.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – กันยายน หดตัว 1.2%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 218,902.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,558,144 ล้านบาท หดตัว 5.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – กันยายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 289,744 ล้านบาท
ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 หดตัวที่ -1.5% (ณ เดือนพฤษจิกายน 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1) อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 2) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ฟื้นตัวช้าส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว จากดัชนีภาคการผลิต เคลื่อนไหวใกล้เส้น base line 3) ต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสงครามที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง แต่ก็คาดหวังในปีหน้าภาพรวมการส่งออกไทยและโลกจะมีแนวโน้นที่ดีขึ้นได้