ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า RSV ไม่มีข้อสรุปเพียงพอในการใช้ Montelukast ในผู้ป่วย RSV ที่มีหลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis )
ปีนี้มีการระบาดของ RSV อย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี หลังจากที่สังคมกลับคืนเข้าสู่ชีวิตปกติหลังโควิด 19 RSV เริ่มระบาดตั้งแต่รายเดือนมิถุนายน และคงจะไปสิ้นสุดเอาสิ้นปีนี้ สายพันธุ์ที่ระบายส่วนใหญ่ยังเป็น RSV A สายพันธุ์ย่อย ON1
ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการใช้ Montelukast (anti leukotriene) กันมากในการรักษาผู้ป่วย RSV ที่มีหลอดลมฝอยอักเสบ และให้ระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดอาการหอบในเด็ก
ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอ โดยจะขอเล่าเหตุการณ์ดังนี้
ในปีพ.ศ 2003 Bisgaard H และคณะที่เดนมาร์กได้ทำการศึกษาให้ Montelukast โดยการให้ยาเปรียบเทียบกับกลุ่มให้ยาหลอก ในผู้ป่วย RSV ที่มีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ ได้ผลลดอาการและระยะเวลานอนโรงพยาบาล จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งและมีการพูดถึงกันมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์งานของ Bisgard ซึ่งท่านก็ตอบว่างานดังกล่าวเป็นการศึกษานำร่องสร้างสมมติฐานขึ้นมาเท่านั้นและยอมรับว่ามี confounding factors
ดังนั้น Bisgaard จึงได้ทำการศึกษาซ้ำที่มีข้อมูลใหญ่ขึ้น และควบคุมกลุ่มอายุที่ดีขึ้นเผยแพร่ในปี 2008 ในผู้ป่วย RSV ที่มีหลอดลมฝอยอักเสบและให้ยา Montelukast เป็น double blind study เปรียบเทียบกับยาหล่อก ผลปรากฏว่าการให้ยา Montelukast ไม่มีผลต่อการรักษา RSV ที่มีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ
หลังจากนั้นมีการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มเติมตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยนักวิจัยกลุ่มอื่นๆไม่ว่าจะทำการศึกษาแบบ systematic review หรือ metaanalysis และ Cochrane Database ก็ได้ผลออกมาในทำนองเดียวกัน คือยังไม่สามารถสรุปได้ว่า Montelukast มีผลช่วยในการรักษา RSV ที่มีหลอดลมฝอยอักเสบ
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เข้าใจว่าการรักษาในประเทศไทยมีการใช้ Montelukast เป็นจำนวนมากและระยะยาวในผู้ป่วย RSV ทั้งที่ยามีราคาแพงมากและ อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้
การติดตามการศึกษาระยะยาว และต่อเนื่องจะทำให้ทราบว่า Montelukast ไม่ได้ประโยชน์ในผู้ป่วย RSV และทำให้ต้องเสียเงินในการรักษาเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ชัดว่า ผู้ใช้จะอ้างเอกสารอ้างอิง 2003 แต่ขณะเดียวกัน ทีมเดียวกันและมีผู้อื่นทำการศึกษาอีกมากหลังจากนั้น พบว่าไม่ได้ผล