นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมการขยายเครือข่ายและการจัดระบบบริการแบบครบวงจร OSCC (One stop crisis center) สำหรับเด็กและสตรีได้รับความรุนแรง พร้อมลงนามการต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี “ไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย ไม่สนับสนุนความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ ห้องประชุมบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการพบกันและหารือกับนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายหลักของเราที่อยากให้ กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน จริงๆ แล้ว กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับบางคนอยู่แล้ว แต่สำหรับกลุ่มเปราะบางอาจจะถูกละเลยและไม่ได้รับการดูแล ปัญหานี้มีส่วนสำคัญอยู่ 2 เรื่อง 1. คือต้องมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจาก กทม. หน่วยงานเดียวไม่สามารถรับผิดชอบได้ทั้งหมด ซึ่งวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายหน่วยงานได้ขยายความร่วมมือกัน 2. หัวใจของความสำเร็จคือต้องตรวจพบให้เร็วที่สุด เพื่อเข้าไปจัดการและควบคุมได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจุดนี้ กทม. มีบทบาทที่สำคัญมากเพราะเป็นด่านหน้าหน่วยปฐมภูมิของระบบสาธารณสุข มีข้อมูลชุมชน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อค้นหาปัญหา แต่เมื่อพบแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์เข้าไปจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จได้ วันนี้ขอขอบคุณเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้รวมพลังทำให้เกิดโครงการดีๆ อย่างนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นและดำเนินการขยายผลต่อไป
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานวันนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรงเป็นหลัก ที่ผ่านมาศูนย์ช่วยเหลือสังคมOSCC ที่ดูแลเรื่องความรุนแรง สิทธิของเด็กและสตรีได้มีการดำเนินงานมานานแล้ว แต่ยังขาดการประสานงานที่เหนียวแน่นระหว่างกัน กทม. เองเรามีชุมชนที่มีหลายลักษณะ ดูแลโรงเรียน โรงพยาบาล อนามัย หลายสถานการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับการเป็นอยู่ของเด็กและสตรีมากขึ้น เพราะฉะนั้นวันนี้จึงต้องการเชื่อมข้อมูลของการดูแล การคัดกรองเด็กหรือสตรีที่อยู่ในครอบครัวเริ่มมีปัญหาในเรื่องใดบ้าง อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำความสำคัญและทำให้สังคมเข้าใจในเรื่องความรุนแรงทุกมิติ ถือเป็นการสานงานต่อระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ ให้แนบแน่นกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ดูแลตั้งแต่ต้นทาง ทั้งเรื่องพัฒนาการ จิตใจ ครอบครัว เศรษฐกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเครียดและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะเป็นการเข้าไปช่วยบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ดีขึ้น
.
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีการตั้งคณะทำงานทั้งหมด 5 ชุด โดยจะมีคณะที่ทำเรื่องเด็กและสตรีเป็นหลักทำงานเชิงบูรณาการ เรื่องระบบทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว เช่น กทม. มีแพลตฟอร์มเติมเต็ม พม. มีระบบ CMST ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยการนำ Traffy fondue เติมเต็ม CMST มาดำเนินงานให้เป็นรูปแบบ One stop crisis center ทุกเคสที่เข้ามาจะได้รับการดูแลอย่างแน่นอน