เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ระบุว่า ที่ศาลอาญา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม เป็นครั้งที่สอง หลังเขาถูกศาลพิพากษาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และลงโทษปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
ศาลอาญาได้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา คำร้องระบุ ‘อานนท์’ เป็นทนายให้จำเลยในศาลกรุงเทพฯและต่างจังหวัด กว่า 39 คดี
สำหรับรายละเอียดของคำร้องขอประกันตัวในครั้งนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากคำร้องในครั้งที่ 1 โดยสรุประบุว่า อานนท์เป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 39 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่าง ๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย
ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลเคยอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศและอานนท์กลับมารายงานตัว
คดีนี้อานนท์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และมีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
ภายหลังจากอานนท์ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน และระหว่างพิจารณา ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้เลยสักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีแต่อย่างใด
ศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยอนุญาตให้อานนท์ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ 12-22 พ.ค. 2566 เมื่ออานนท์เดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนดก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลีบหนีแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย
ขอศาลยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
คำร้องขอประกันตัวยังระบุ ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย
ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ในเวลา 13.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องคำขอประกันอานนท์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน อย่างไรก็ตามตลอดช่วงวันที่ 12-15 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งแต่อย่างใด
จนกระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2566 เวลา 15.22 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกัน ‘อานนท์’ เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดีและโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง”