นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเตือนนักท่องเที่ยวที่ชอบกางเต็นท์นอนในพื้นที่ป่าภูเขาให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส (Scrub typhus) โดยไรอ่อนจะอาศัยอยู่ในสัตว์รังโรค คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต กระรอก มีระยะฟักตัวประมาณ 10-12 วัน ไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และคอ ซึ่งจะมองไม่เห็น อาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัด มีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ไต ตับ ม้ามโต สำหรับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์ กางเต็นท์ นอนในป่า หรือทำมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และทายากันยุง หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุก หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง และหลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ ทั้งนี้ หากไปเที่ยวป่า กลับมามีอาการไข้ หรืออาการข้างต้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้