นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า กระแสข่าวว่าจะมีการปรับลดวงเงินโครงการจาก 5.6 แสนล้านบาท เหลือ 4 แสนล้านบาท และปรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่มีการหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ และไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น โดยคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดจะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์นี้
โดยประเด็นการปรับลดวงเงินเหลือ 4 แสนล้านบาท ตนเองไม่เคยพูด และนโยบายนี้เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายดูแลกลุ่มผู้ยากไร้ นโยบายสงเคราะห์ แต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วถึง เมื่อมีเสียงคัดค้าน ข้อเสนอแนะ ก็พร้อมรับฟัง เช่น มาตรการสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เพราะจะเป็นการนำเงินดิจิทัลไปทดแทนวงเงินใช้จ่ายปกติเท่านั้น ต้องเอาประเด็นนี้มาพิจารณา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากมีการแบ่งว่าใครควรได้รับสิทธิ์ จะพิจารณาอย่างไรว่าใครรวยใครจน พิจารณาจากการยื่นภาษีกรมสรรพากร หรือพิจารณาจากเงินฝากในบัญชี ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายพีดีพีเอ หรือพิจารณาจากการถือครองที่ดิน สุดท้ายทั้งหมดคงต้องมีกลไกทางวิทยาศาสตร์ บอกว่าใครรวยจริง คณะอนุกรรมการในชุดต่างๆ ต้องไปพิจารณา แล้วกลับมาเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า
สำหรับกระบวนการได้สิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าไม่ใช่ลงทะเบียน แต่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ตัวตนเพราะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเป็นการใช้เงินดิจิทัลเทียบเงินบาท จากข้อมูลในมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมา มีประชาชนยืนยันตัวตนแล้วกว่า 40 ล้านคน ยังเหลืออีก 10 กว่าล้านคน ต้องยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เป็นการยืนยันรับสิทธิ์ ไม่ใช่การพิสูจน์สิทธิ์ โดยต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสิทธิ และต้องมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวผูกบัญชีไว้ ซึ่งกระบวนการยืนยันตัวตน จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะมีการโหลดแอปพลิเคชั่นดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งกระบวนการต่างๆ คณะทำงานต้องไปทำรายละเอียดมา
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอให้ปรับลดวงเงิน แต่กลไกต้องอยู่ในกรอบเหมาะสม และไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ละสัปดาห์ก็แบ่งงานกันไปทำชัดเจน เพื่อสามารถมาทำโครงการได้โดยไม่ให้มีผลกระทบน้อยสุด ซึ่งเป็นไปได้ใช้น้อยกว่า 5.6 แสนล้านบาท
เบื้องต้นจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า 1.ประชาชนที่ได้สิทธิ์ อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี จะเหลืออยู่ราว 54.8 ล้านคน จาก 56 ล้านคน 2.การพิจารณาว่าใครจำเป็นไม่จำเป็น ไม่มีใครตอบได้ ต้องฟังเสียงนักวิชาการ ประชาชน และรอคณะอนุกรรมการไปพิจารณาดูว่าคนกลุ่มไหนไม่ควรได้สิทธิ์ และให้คำตอบมาก่อน และ 3.กระบวนการครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ได้สิทธิ์จะใช้สิทธิ์กันครบ
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอ และปฏิบัติตามแนวทางที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และกลุ่มนักวิชาการท้วงติงความเหมาะสมโครงการ และยืนยันว่าจะยึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาก็เป็นรัฐบาลที่ทำงบประมาณแบบสมดุลได้ แต่โตต่ำกว่าศักยภาพมาโดยตลอด ถ้าขยายตัวในระดับ 2% ต่อปี ประชาชนก็ไม่พึงพอใจ