xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา-ลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ตั้งเป้าลดหนี้ภาพรวมให้ต่ำว่า 80% ต่อจีดีพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหาและลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25 – 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละราย เมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารฯ จะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้ รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารฯ จะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

นางรัดเกล้า กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี