xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงทรงมีพระราชสาส์นอำนวยพรวันก่อตั้งชาติเกาหลีและวันเอกภาพเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นอำนวยพรไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสวันก่อตั้งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ความว่า

ฯพณฯ นายยุน ซ็อก ย็อล
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
กรุงโซล

ในโอกาสวันก่อตั้งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะขออำนวยพรและความปรารถนาดีด้วยใจจริง เพื่อท่านประธานาธิบดีประสบแต่ความสุขสวัสดีและมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งเพื่อความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปของประเทศและประชาชนแห่งสาธารณรัฐ เกาหลี

มิตรภาพระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีที่มีมาตลอด 60 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูต ในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ได้มีบทบาทสร้างเสริมความร่วมมือในกิจการทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ประเทศไทยจะมุ่งสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการกระชับสัมพันธไมตรีที่มีมายาวนานนี้ให้แน่นแฟ้น และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่าย

(พระปรมาภิไธย) มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นอำนวยพรไปยังประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสวันเอกภาพเยอรมันของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ความว่า

ฯพณฯ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์
ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
กรุงเบอร์ลิน

ในโอกาสวันเอกภาพเยอรมัน ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีและขอส่งคำอำนวยพร ให้ท่านประธานาธิบดีมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงและประสบความสุขสวัสดิ์ ทั้งขอให้ประเทศและประชาชนชาวเยอรมันมีความผาสุกร่มเย็นและความวัฒนาถาวร

ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีประวัติอันเป็นที่ภาคภูมิมานานกว่า 160 ปี สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและแน่นแฟ้นดังกล่าวได้รับการหนุนนำจากความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชนและความร่วมมือเป็นอเนกประการระหว่างสองประเทศไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายใดๆ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ประเทศไทยจะพยายามในทุกสิ่งเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือในกิจการด้านต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและเทคโนโลยี ให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า สัมพันธไมตรีและความเป็นหุ้นส่วนที่มีอยู่ระหว่างกันจะก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่าย

(พระปรมาภิไธย) มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว