xs
xsm
sm
md
lg

"แพทองธาร"ร่วมถกซอฟต์พาวเวอร์ วางกรอบ 100 วันแรกผลิตแรงงานทักษะสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวระหว่างร่วมประชุมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนนโยบาย และขอนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 / 2566 การจัดทำนโยบาย OFOS หรือ One Family One Soft Power และการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่าง THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นนโยบายที่สร้างระบบนิเวศให้กับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งประเทศไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยแรงงานทักษะสูงอย่างสร้างสรรค์ ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ และในเชิงทูตวัฒนธรรม ไทยมีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรมเป็นที่รู้จักไปเป็นที่ทั่วโลก เพราะฉะนั้นศักยภาพของวัฒนธรรมของคนไทยหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จะสามารถไปได้ไกลอย่างแน่นอน

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์จะถูกผลักดันไปพร้อมกับนโยบายอื่นๆ โดยนโยบาย OFOS และ THACCA จะมุ่งยกระดับทักษะของคนไทยจำนวน 20 ล้านคน ให้เป็นแรงงานไทยที่มีทักษะสูง จากการคาดการณ์ หากเราทำนโยบายนี้ได้สำเร็จ อย่างน้อยจะมีรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานมากขึ้น 20 ล้านตำแหน่ง พร้อมกับจะได้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และเพื่อจะให้การดำเนินงานนโยบายนี้บรรลุวัตถุประสงค์ จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน

การพัฒนาคน โดยหาคนที่มีความฝัน และทำให้เป็นจริงได้ โดยไม่กำหนดอายุ 1 คน 1 ครอบครัว โดยตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ระดับตำบลถึงจังหวัด ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ คนในครอบครัว 1 คน ได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ และทุกขั้นตอนการเรียนรู้ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณ งานที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน ให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ และเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะมีการมอบใบประกาศ รวมถึงทุนในการศึกษาต่อต่างประเทศ

พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ ภายในประเทศ 11 สาขา เช่น อาหาร กีฬาท่องเที่ยว ภาพยนตร์ เกม รวมถึงการออกแบบและแฟชั่น โดยต้องปรับแก้ระเบียบกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ รวดเร็วขึ้น และสร้างวันสตอปเซอร์วิส อำนวยความสะดวกด้านเอกสาร อีกทั้งยังสนับสนุนทุนวิจัย และสร้างแรงจูงใจด้านภาษี รุกตลาดโลก ให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยกลายเป็นระดับสากล อาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน จะผลักดัน เทศกาลของคนไทยให้มีโอกาสไปร่วมงานระดับโลก

นางสาวแพทองธาร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเราดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มตั้งแต่วันนี้วันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยระยะ 100 วันแรก คือ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะเปิดให้ลงทะเบียนตามความสนใจ และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวให้กับกรุงเทพมหานคร และภายในระยะเวลาหนึ่งปี จะบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูง เป็นจำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน พร้อมคาดหมายว่า พ.ร.บ.THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะเข้มแข็งและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น มีชื่อเสียงกว้างไกลระดับโลก พร้อมจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ กระตุ้นให้ 20 ล้านครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้น และกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง