ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า จีนออกมาเตือนทั่วโลกให้เตรียมพร้อมรับมือกับไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ใหม่ จากค้างคาวที่อาจแพร่ระบาดมาสู่คน
ดร. ฉี เจิ่งลี่ ผู้อํานวยการศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เตือนว่าพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ มีความเสี่ยงสูงที่อาจก้าวข้ามมาระบาดในคน โดยตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ Emerging Microbes & Infections เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37334745/) โดยสื่อจีนให้ความสนใจรายงานข่าวในเดือนกันยายน 2566
ผลการวิจัยล่าสุดของ ดร. ฉี เจิ่งลี่ และทีมวิจัยได้เตือนว่ามีโอกา"สูงมากที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาอีกในอนาคต
ไวรัสโคโรนา (CoV) มี 4 สกุล ได้แก่ alpha (α), beta (β), gamma (γ) และ delta (δ) CoV ทั้งหมดที่ทำให้เกิดการระบาดของมนุษย์นั้นมาจาก alpha- หรือ beta-CoV จากการจำแนกประเภทของ ICTV ล่าสุด พบว่ามี CoV สายพันธุ์ 40 ชนิดในสกุล alpha- และ beta-CoV โดย 27/40 ของสายพันธุ์ CoV (67.5%) สามารถพบได้หรือพบเฉพาะในค้างคาว
ทีมวิจัย ระบุว่า พบไวรัสโคโรนาจํานวนกว่า 20 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ติดเชื้อในคนได้ โดยให้เหตุผลว่าไวรัสโคโรนาเคยก่อให้เกิดการระบาดจากสัตว์สู่คนมาก่อน (เช่น SARS และ COVID-19) ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่มันจะก่อให้เกิดการระบาดอีกในอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเปรียบเทียบงานวิจัยของ ดร. ฉี เจิ่งลี่ เสมือนการทำพจนานุกรมของไวรัสโคโรนา ที่จะช่วยในการพยากรณ์และป้องกันการระบาดในอนาคต
สำหรับผลกระทบงานวิจัยของ ดร. ฉี เจิ่งลี่
• เน้นถึงภัยคุกคามต่อเนื่องจากไวรัสโคโรนาที่มาจากค้างคาว
• ย้ำให้เห็นว่าภาครัฐควรลงทุนด้านการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาไวรัสที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาวัคซีน/ยาสำหรับรักษาล่วงหน้าก่อนเกิดการระบาดในอนาคต
• เตือนผู้ดูแลระบบสาธารณสุขทั่วโลกให้เตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโรคจากไวรัสโคโรนาใหม่ๆ ในอนาคต
• การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนาทั้งจีโนมที่แยกเชื้อได้จากสัตว์โดย ดร. ฉี เจิ่งลี่ และ ทีมวิจัยสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น จะมีคุณค่าอย่างยิ่งในการพยากรณ์และป้องกันโรคระบาดในอนาคต
อย่างไรตาม นักวิจัยจากหลายสถาบัน เตือนถึงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic virus hunting) อาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่? คือ กลับทำให้มนุษย์และไวรัสในสัตว์ป่าเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น จนสุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ล่าไวรัสอาจติดเชื้อไวรัสเสียเองจนเกิดเป็นโรคระบาดติดต่อร้ายแรงไปทั่วโลกหรือไม่