เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่สรุปรายรับ-รายจ่ายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามที่มาตรา 67 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประกอบข้อ 9 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 กำหนดไว้ พบว่าในจำนวน 67 พรรคฯ ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 10 พรรคฯ ที่มีรายจ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่
1. พรรคก้าวไกล มีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 40,973,623 บาท
2. พรรครวมไทยสร้างชาติ มีรายรับรวม 30,796,788 บาท รายจ่ายรวม 40,697,861 บาท
3. พรรคเพื่อไทย มีรายรับ 36 ล้านบาท มีรายจ่าย 40,212,647 บาท
4. พรรคภูมิใจไทย มีรายรับรวม 44 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 38,452,473 บาท
5. พรรคประชาธิปัตย์ มีรายรับรวม 38,870,363 บาท มีรายจ่ายรวม 34,423,909บาท
6. พรรคชาติไทยพัฒนา มีรายรับรวม 25,986,960 บาท มีรายจ่ายรวม 29,640,076บาท
7. พรรคเสรีรวมไทย มีรายรับรวม 26,789,260 บาท มีรายจ่ายรวม 26,644,804 บาท
8. พรรคพลังประชารัฐ มีรายรับรวม 44,069,500 บาท มีรายจ่ายรวม 24,232,915 บาท
9. พรรคไทยสร้างไทย มีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 20,935,880 บาท
10. พรรคชาติพัฒนากล้า มีรายรับรวม 18, 485,256 บาท มีรายจ่ายรวม 19,231,333 บาท
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต. กำหนดค่าใช้จ่าย ส.ส. กรณียุบสภา โดย ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือพรรคการเมือง ไม่เกิน 44 ล้านบาท จากแบบรายงานรายรับ-รายจ่ายในการเลือกตั้งของ 67 พรรคการเมืองที่ยื่นต่อ กกต. พบว่าสิ่งที่ทุกพรรคใช้จ่ายมากที่สุด คือ ค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์ ค่าเช่าและตกแต่งสถานที่ รวมถึงการค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์และการโฆษณาในสื่อต่างๆ โดยพรรคภูมิใจไทยระบุว่ามีค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์สูงถึง 29,824,008 บาท ค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 1,141,300 บาท ค่าเช่าสถานที่และตกแต่งสถานที่ 3,325,713 บาท ขณะที่พรรคเพื่อไทย ระบุ ค่าจัดทำป้ายหาเสียง 25, 802,921 บาท ค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 1,885,500 บาท ส่วนพรรคก้าวไกล ระบุค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์ 17,040,299 บาท ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ 4,712,488 บาท ค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 13,177 บาท เป็นต้น