xs
xsm
sm
md
lg

“ร่มธรรม”ชำแหละคำแถลงนโยบายด้านการศึกษาไร้ทิศทาง-ไม่กล่าวถึงต้นตอปัญหา แนะปฏิรูป 6 มิติสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นต่อคำแถลงนโยบาย ของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 โดยระบุว่า นอกจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ผมค่อนข้างเป็นกังวลอย่างมากต่อการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น นโยบายด้านการศึกษาก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และพี่น้องประชาชนหลายท่าน เพราะในเนื้อหาคำแถลงนโยบายมีเพียงการพูดถึงบริบททางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา และมีการกล่าวถึงแนวคิดของระบบการศึกษาในภาพกว้าง ๆ เช่น การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การกระจายอำนาจการศึกษา การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดของการดำเนินการ และผลสำเร็จที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีการพูดถึงการลดภาระงานของคุณครูซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทำให้ทุกอย่างดูจะเป็นนามธรรมไปเสียหมด ไม่มีอะไรที่จับต้องได้ ไม่มีทิศทางหรือแนวทางการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อสร้างความหวังให้ระบบการศึกษาไทยได้

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจากปัญหาความยากจนและผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการจัดการที่ต้นตอของปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน และลดภาระงานของคุณครู ดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการให้ดียิ่งขึ้น แต่ผมกลับไม่พบนโยบายเหล่านี้บรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เหมือนนโยบายด้านอื่น ๆ ที่มีลักษณะใช้เพื่อการโฆษณาหาเสียงเท่านั้น นอกจากนี้ ผมยังไม่พบนโยบายที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูประบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งมีปัญหาอย่างมาก และสร้างผลกระทบด้านจิตใจกับเยาวชนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาในทุก ๆ ปี ปีละหลายแสนคน

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องวางกรอบนโยบายให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการนำนโยบายไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และต้องแถลงให้รัฐสภาทราบถึงรายละเอียดของการปฏิรูปเหล่านั้นเพื่อให้เกิดการถกเถียงและตกผลึกจนเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง โดยการปฏิรูปการศึกษานั้น ผมขอเสนอแนะให้มีการปฏิรูปใน 6 มิติสำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ดังนี้

1. มิติการพัฒนาคุณภาพผู้สอน โดยต้องมีการะบวนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของคุณครูและอาจารย์ในทางวิชาการและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การพัฒนาการเรียนรู้ และทักษะการค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทน ภาระงาน สวัสดิการ การโยกย้าย และบริหารจัดการอัตรากำลังที่เหมาะสม

2. มิติการจัดการเรียนรู้ ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัย พร้อมรองรับการเปลี่ยนเปลี่ยนของบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และโลกาภิวัฒน์ ส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจ การสอนทักษะอาชีพ มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนการวัดผลที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนมากกว่าการแข่งขัน

3. มิติการกระจายโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนให้เปิดโอกาสทางการศึกษาที่ครอบคลุมในทุกมิติของสังคมที่หลากหลาย เช่น มิติทางเชื้อชาติ มิติทางวัฒนธรรม มิติทางภาษา มิติทางภูมิศาสตร์ มิติทางช่วงวัย และมิติทางสถานะทางสังคม เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการศึกษาให้เอื้อต่อการเข้าถึงของประชาชนทุกคน และสนับสนุนการต่อยอดทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต

4. มิติของการผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเปิดหลักสูตรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน จัดระบบการศึกษาที่เพิ่มทักษะความรู้ความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพร้อมพร้อมกลไกควบคุมคุณภาพและรับรองมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เร็วขึ้นและมีคุณภาพ

5. มิติการบริหารจัดการ ต้องสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา งบประมาณ การจัดโครงสร้างองค์กร การตรวจสอบถ่วงดุล และการประเมินผล เช่น พรบ.การศึกษาแห่งชาติ การวัดและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น ลดหลักสูตรที่ไม่จำเป็นและไม่ส่งเสริมให้เกิดการมีงานทำในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ต้องกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน และสอดคล้องการบริบทการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมความหลากหลายของมาตรฐานการศึกษาเพื่อความยืดหยุ่นของการวัดผลการเรียนรู้ พร้อมกับกระจายอำนาจการบริหารให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการศึกษาและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น

6. มิติการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาการเรียนการสอนในทุกระดับ จัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริหาร ผู้สอน และผู้เรียนได้ใช้งานร่วมกัน รวมถึงการสร้าง Platform แบบออนไลน์ ออนแอร์ และออนกราวน์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ทันสมัย และให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระและกว้างขวาง ในทุกที่ และทุกเวลา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงเป็นข้อกังวลใจและข้อเสนอแนะของผมต่อทิศทางการบริหารจัดการระบบการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรของประเทศ หากรัฐบาลยังคงไม่มีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ผมเกรงว่าอาจสร้างความเสียหายที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ต่อลูกหลานของเราในอนาคต