นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุการณ์การระบาดโรคอาหารเป็นพิษ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
นายแพทย์สุนทร กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 8 กันยายน 2566 พบว่าเด็กมีอาการป่วยอาหารเป็นพิษประมาณ 40 คนต้องนอนโรงพยาบาลคืนเดียว 8 คน และรับการรักษาที่ผู้ป่วยนอก 32 คน ผลจากการสอบสวนโรคพบว่า ตรวจพบเชื้อโรคบางตัวที่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้อาหารเป็นพิษครั้งนี้ ได้แก่ เชื้อ Aeromonas และ Staphylococcus ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม หลังจากเกิดเหตุขึ้นได้ส่งทีมสำนักอนามัยร่วมกับสำนักการศึกษาลงไปเร่งรัดเรื่องมาตรการต่างๆ ได้แก่ ผู้ประกอบอาหาร แม่ครัวพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ ให้หยุดกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอาหาร 10 วัน นับจากวันที่ตรวจ สุขาภิบาลอาหาร ทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ อบรมการสุขาภิบาลอาหาร ให้แก่ผู้ประกอบอาหารและบุคลากรที่ดูแลอาหารของโรงเรียน หากต้องทำอาหารล่วงหน้าเป็นเวลานาน แนะนำอุ่นอาหารจนเดือดทุก 2 ชั่วโมง สุขาภิบาลน้ำ ทำความสะอาดตู้กดน้ำดื่มที่พบเชื้อและตู้ที่มีลักษณะเดียวกันทั้งหมดพร้อมปิดการใช้งานตู้กดน้ำไปจนกว่าผลแล็บจะออก (ผลออก 20 ก.ย. 66) แนะนำเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำที่มีอายุการใช้งานนานและส่งตรวจน้ำให้กับตู้กดน้ำดื่มที่พบเชื้อ 2 จุด เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ เครื่องกรองน้ำ ถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำดาดฟ้า ส่งตรวจเพิ่มเติมจำนวน 16 ตัวอย่าง (ผลออก 20 ก.ย. 66) การประปานครหลวงตรวจสอบคุณภาพน้ำและท่อประปา และจะมีการนัดประชุมติดตามผลในวันที่ 20 ก.ย.66
นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมีมาตรการในการสุ่มตรวจเรื่องความสะอาดของอาหารให้ถี่ขึ้น หรือมี Testkit ที่ให้โรงเรียนสามารถตรวจสอบเองได้ รวมถึงตรวจสอบน้ำดื่มในโรงเรียน เนื่องจากภายในโรงเรียนมีตู้น้ำดื่มบริการนักเรียน โดยต้องทำเป็นแผนครบวงจรดำเนินการทุกโรงเรียนและเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ถึงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนเดียว แต่เราจะนำเอาปัญหามาขยายผล ต่อไปจะไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนแต่รวมถึงร้านอาหารที่อยู่รอบๆ โรงเรียนด้วย