นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การมีรองประธานสภา ที่มาจากฝ่ายค้าน กลับเป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น
การออกแบบในรัฐธรรมนูญ ที่พยายามให้แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถมีตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา โดยเป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญว่า ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภา จะต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากที่สุด และต้องไม่มี สส. ของพรรคไปดำรงตำแหน่งเป็นประธาน หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นการออกแบบที่พิกลพิการ และ ทำให้การทำงานของสภาผู้แทนขาดความสมดุลย์
เพราะประธาน รองประธาน ทั้งหมด หากอยู่ในซีกรัฐบาล แม้จะมีคำโตบอกว่า เป็นกลาง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ก็ยังต้องดำเนินการประชุมเอื้อกับฝ่ายรัฐบาล
หมออ๋อง จากก้าวไกล มีโอกาสขึ้นเป็นรองประธาน แม้จะเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง แต่เมื่อได้แล้วก็สมควรทำหน้าที่ต่อ แม้จะมีแรงเสียดทานหรือคำเสียดสีต่าง ๆ แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของสภาผู้แทน
หากพรรคก้าวไกลต้องการเลือกตำแหน่งผู้นำพรรคฝ่ายค้าน หมออ๋องก็มีทางเลือกที่จะให้ กก.บริหารมีมติให้ลาออก แต่การลาออกหรือไม่เป็นการชั่งน้ำหนักประโยชน์ที่ได้ต่อประเทศของตัวหมออ๋องเอง ซึ่งผมเชียร์ว่า ไม่ต้องลาออก ส่วนพรรคจะลงมติขับจากพรรค ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
กรณีนี้ พรรคก้าวไกล จะเสีย สส.ไปหนึ่งคน หมอคงไม่ไปสมัครอยู่พรรครัฐบาลเพราะนั่นเป็นประโยชน์ระยะสั้นและทรยศประชาชน และคงมีพรรคร่วมฝ่ายค้านมากมายที่พร้อมอ้าแขนรับ
Win-Win ในกรณีนี้ คือ ก้าวไกลได้ผู้นำฝ่ายค้านในสภา จำนวน สส.ในพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่าเดิม พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นได้ สส. มาสังกัดเพิ่มหนึ่งคน สภายังคงมีรองประธานสภาที่มีความสามารถและถ่วงดุลย์การทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศได้
อันนี้ ทำตามกติกาประชาธิปไตยทุกอย่าง ไม่ใช่แบบรัฏฐาธิปัตย์แน่นอน