นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
ในที่ประชุมสำนักการระบายน้ำรายงานความคืบหน้าคลองลาดพร้าว ที่มีความยาว 22,050 ม. ซึ่งได้ก่อสร้างเขื่อนแล้ว 12,330 ม. จากความยาวเขื่อนทั้งหมด 24,660 ม. และก่อสร้างทางเดินริมคลองแล้ว 23,350 ม. ทั้งนี้ผู้รับจ้างได้ทิ้งงาน จึงได้มีการบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 65 ด้านการระบายน้ำในคลองได้เปิดทางน้ำช่วงจากคลองแสนแสบถึงถนนแจ้งวัฒนะแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงจากถนนแจ้งวัฒนะถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ซึ่งการเปิดทางน้ำช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้นประมาณ 12%
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาคลองเปรมประชากร แบ่งเป็น 4 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาวประมาณ 581 เมตร ดำเนินการเสร็จแล้ว ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ถึงถนนสรงประภา ความยาวรวมประมาณ 5,000 เมตร ได้ผลงาน 7.48% บ้านรุกล้ำ 5 ชุมชน จำนวน 1,030 หลัง ยังไม่มีการรื้อย้าย ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภา ถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาวประมาณ 10,000 เมตร ได้ผลงาน 12.15% บ้านรุกล้ำ 13 ชุมชน จำนวน 1,743 หลัง รื้อย้ายแล้ว 298 หลัง ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาวประมาณ 10,700 เมตร ได้ผลงาน 26.50% บ้านรุกล้ำ 14 ชุมชน จำนวน 1,625 หลัง รื้อย้ายแล้ว 477 หลัง
ปัญหาอุปสรรคที่เป็นประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนมีความล่าช้า ส่งมอบได้เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง โดยกรุงเทพมหานคร ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจ 2. มีการก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อนการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ขอความร่วมมือไม่ให้ก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อนการก่อสร้างเขื่อน และแก้ไขรูปแบบเพื่อให้สามารถก่อสร้างเขื่อนได้
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการรื้อถอนสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ สำนักการระบายน้ำการสำรวจบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสรุปผลการสำรวจบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวเขตคลองสาธารณะ 6 กลุ่มเขต ณ เดือนสิงหาคม 2566 สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทั้งหมด รวม 11,231 หลัง แบ่งเป็น กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 7,655 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 1,627 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 456 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 1,305 หลัง กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 127 หลัง และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ 61 หลัง ซึ่งบางส่วนได้มีการรื้อย้ายไปบ้างแล้ว
จากนั้น เป็นการรายงานเรื่องการจัดการน้ำเสียต้นทาง ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 แนวทางการจัดการน้ำเสียของอาคารรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการในกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธาแจ้งว่า หน่วยงานของรัฐมีหนังสือประสานขอให้ทางสำนักการระบายน้ำเข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำและคุณภาพน้ำแล้ว จำนวน 3 อาคาร มีหน่วยงานแจ้งว่าอาคารมีการบำบัดน้ำทิ้งที่ออกจากอาคาร มีคุณภาพเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 79 อาคาร รวมเป็นทั้งหมด 82 อาคาร โดยอาคารที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการออกหนังสือติดตามขอความร่วมมือให้ตรวจสอบการบำบัดน้ำทิ้งที่ออกจากอาคารของแต่ละหน่วยงาน
เรื่องที่ 2 การติดตั้งถังดักไขมัน และการจัดเก็บไขมันในพื้นที่รัศมี 500 เมตร ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา สำนักสิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายในการติดตั้งถังดักไขมัน ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 4,487 ถัง แบ่งเป็น 4 รายไตรมาส ดังนี้ ไตรมาตร 1 จำนวน 1,044 ถัง ไตรมาตร 2 จำนวน 1,058 ถัง ไตรมาตร 3. จำนวน 1,192 ถัง ไตรมาตร 4 จำนวน 1,193 ถัง ข้อมูล ณ 11 ก.ย. 66 มีการติดตั้งไปแล้วรวม 3,146 ถัง คิดเป็น 70.11% โดยมีการประเมินผลการติดตั้งถังดักไขมันในชุมชนต้นแบบ จำนวน 2,023 ถัง จาก 2,877 ถัง ใช้งานได้ดี 2,011 ถัง ชำรุด 12 ถัง มีการจัดเก็บไขมันได้ทั้งหมด 1.65 ลบ.ม./เดือน โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการจัดเก็บไขมัน 1 ครั้ง/สัปดาห์
เรื่องที่ 3 การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในตลาดประเภทที่ 1 (รัฐและเอกชน) สำนักอนามัยรายงานว่า ตลาดประเภทที่ 1 รวมจำนวน 145 แห่ง ดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ 34 แห่ง คิดเป็น 23% ได้แก่ ตลาดที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการของโรงควบคุมคุณภาพน้ำ (รคภ.) กรุงเทพมหานคร 44 แห่ง ดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ 9 แห่ง และตลาดที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการของโรงควบคุมคุณภาพน้ำ (รคภ.) กรุงเทพมหานคร 101 แห่ง ดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ 25 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2566 ตลาดที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่ม 4 แห่ง ได้แก่ 1. ตลาดคลองเตยหลังที่ 4 เขตคลองเตย 2. ตลาดฟู้ดวิลล่า ราชพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน 3. ตลาดถนอมมิตร เขตบางเขน และ 4. ตลาดบริษัท เอกชัยฯ บรมราชชนนี สาย 2 เขตทวีวัฒนา
เรื่องที่ 4 การจัดการน้ำเสียของตลาด 12 แห่ง ในการกำกับดูแลของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ความคืบหน้าเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดบางกะปิ อยู่ระหว่างขอรับความเห็นชอบจัดสรรเงินงบกลาง เพื่อใช้ปรับปรุงและซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสีย โดยสำนักการระบายน้ำดำเนินการออกแบบและจัดทำแบบรูปรายการที่จะก่อสร้าง อยู่ในวงเงิน 2,000,000 บาท และตลาดประชานิเวศน์ 1 เดิมจะดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ โดยสำนักการระบายน้ำได้ออกแบบและจัดทำรูปรายการที่จะก่อสร้าง วงเงิน 5,404,000 บาท แต่ทั้งนี้่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนกรุงเทพมหานคร จึงพิจารณาดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เดิม โดยได้จัดทำหนังสือขอความอนุเคราะห์สำนักการระบายน้ำเข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียพร้อมจัดทำรูปแบบรายการปริมาณและราคาในการปรับปรุงซ่อมแซม
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการติดตามความคืบหน้าในแต่ละเรื่อง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ แล้วนำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป รวมถึงให้จัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลการติดตั้งบ่อดักไขมันให้มีความชัดเจน อีกทั้งให้มีการเฝ้าระวังการขโมยตัดสายไปจากโคมไฟที่ติดตั้งในแต่ละเขต