นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังชมการพัฒนางานทันตกรรมของโรงพยาบาลหนองคาย ว่า งานส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากปัจจุบันมีขึ้นเพียงประมาณ 10 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งยังน้อยหากเทียบกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ เช่น ตรวจสุขภาพช่องปากปีละ 2 ครั้ง ขูดหินปูน 2 ครั้ง จะเห็นได้ว่าคนไทยใช้บริการยังไม่ถึง 10% แม้ว่าจะมีคลินิกนอกเวลามาให้บริการเสริม ขณะที่อัตราทันตแพทย์มีประมาณ 8,000 คน แต่สิ่งที่ยังขาดคือผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตภิบาล ที่มีความสามารถให้บริการพื้นฐาน ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน รวมถึงขูดหินปูนได้ ยังขาดยูนิกทำฟัน ซึ่งปัญหาเกิดจากหลายอย่างซ้อนกัน จึงมีแนวคิดกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทันตกรรม เกิดโรงพยาบาลทันตกรรมขึ้นจังหวัดละ 1 แห่ง ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นในปี 2567 เพิ่มทั้งโครงสร้างของระบบงาน ผลิตทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์เพิ่ม ซึ่งสถาบันพระบรมราชชนก รับปากจะผลิตทันตแพทย์ เพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือทำฟัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการให้มากขึ้น โดยมี สปสช. เข้าดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ในระบบกองทุนสุขภาพ และกลไกทางการเงิน
ทั้งนี้ งานด้านทันตกรรมก็ถือเป็นหนึ่งในการยกระดับของ 30 บาท+ (30 บาทพลัส) ส่วนในอนาคตที่จะเกิดกรมทันตกรรมที่จะแยกตัวออกจากกรมการแพทย์นั้น ยังเป็นเรื่องของอนาคต และยังต้องดูใน 2 ส่วน คือ บุคลากรมีความพร้อม และนโยบายของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องเร่งให้บริการสุขภาพช่องปากประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่ถึง 10%