xs
xsm
sm
md
lg

สดร.เผยลุ้นชมดาวหางนิชิมูระโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากสุด 17 ก.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า ดาวหาง C/2023 P1 (Nishimura) ที่ถูกค้นพบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ กำลังจะโคจรเฉียดโลกในวันที่ 12 กันยายนนี้ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความสว่างมากที่สุด และยังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากเพียงพอ อาจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำของวันดังกล่าว

“ดาวหางนิชิมูระ” ค้นพบครั้งแรกโดย “ฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura)” นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2023 โดยเขาใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า แล้วพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ และเมื่อกลับไปตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีการเปลี่ยนตำแหน่งเปลี่ยนไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ

ฮิเดโอะ นิชิมูระ ได้ส่งข้อมูลไปยัง Minor Planet Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ และได้รับการยืนยันในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)” จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี โดยขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2023

#ต้องดูดาวหางนิชิมูระตอนไหน ?

ในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ของวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2023 ดาวหางจะมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (Leo) บริเวณใกล้กับดาวเรกูลัส (Regulus) ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 20 องศา ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น และจากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ขณะนี้ดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏ 5.2 สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไร้มลภาวะทางแสง

ในช่วงวันถัดมาหลังจากนี้ แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งมีเวลาในการสังเกตการณ์น้อยลงเรื่อย ๆ และในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์

หลังจากวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2023 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเคลื่อนตำแหน่งออกจากกลุ่มดาวสิงโต (Leo) จนกระทั่งในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) และจะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดการณ์ว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 [1] ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยากนัก

ในวันที่ 17 กันยายนนี้ จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลาสังเกตการณ์เกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป ซึ่งหลังจากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า