xs
xsm
sm
md
lg

“หริรักษ์”เชื่อศาล รธน.ไม่รับเรื่องเสนอชื่อ“พิธา”ซ้ำได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
พรุ่งนี้ วันพุธที่ 16 สิงหาคม เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงว่าจะรับวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ส่งมาจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การที่รัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบว่าสมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ตามข้อบังคับการประขุมรัฐสภาข้อ 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผมยังคงยืนยันความเห็นเดิมว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามเหตุผลที่เคยให้ไว้แล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นก็เท่ากับเป็นการปิดประตูที่คุณพิธาจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในสมัยการประชุมสภาสมัยแรกนี้ และต่อจากนี้คุณพิธายังคงต้องเผชิญกับวิบากกรรมต่อไปอีก 2 เรื่อง คือคดีเรื่องการถือหุ้น itv ซึ่งอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอีกคดีคือ การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา กรณีหลังเรื่องยังอยู่ในชั้น กกต.ซึ่งคณะไต่สวนของกกต.มีความเห็นให้ยกคำร้อง แต่ยังมีอีก 2 ด่านที่จะต้องพิจารณา คืออนุกรรมการวินิจฉัย และคณะกรรมการกกต.ชุดใหญ่ คุณพิธาจึงยังดีใจไม่ได้ในขณะนี้

หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับเรื่อง การประชุมรัฐสภาก็คงจะมีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งพรรคที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนว่า "พรรคเพื่อไทยการละคร" เพราะสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์การเมืองล้วนมองว่า พรรคเพื่อไทยเล่นละครตั้งแต่เริ่มต้นจับมือกับพรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 6 พรรคแล้ว เนื่องจากไม่สามารถชนะการเลือกตั้งแบบ landslide อย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้ ทั้งยังพ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นครั้งแรกอีกด้วย จึงจำเป็นและจำใจต้องยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเล่นบทสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเดียว คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ละครฉากที่เป็นที่ฮือฮาที่สุดก็คือ ฉากที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทยพากันเดินจากที่ทำการพรรคข้ามถนนไปขอขมาต่อพรรคก้าวไกลหลังจากที่ประกาศแยกตัวออกจาก 8 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขอให้พรรคก้าวไกลลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ตาม

แรกทีเดียวก็รู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยทำเช่นนี้ ไม่ค่อยจะเหมาะสม ทำไปเพื่ออะไรทั้งที่รู้ว่า ยากที่พรรคก้าวไกลจะ ยอมลงคะแนนให้หากไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่เมื่อคุณไผ่ ลิกค์ แห่งพรรคพลังประชารัฐประกาศว่า จะให้การสนับสนุนด้วยการลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดยส.ส.ทั้ง 40 คนของพรรคพลังประชารัฐจะลงคะแนนให้ทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องร่วมรัฐบาล เลยชักสงสัยว่า การบากหน้าไปขอขมาพรรคก้าวไกลอาจเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อส่งสัญญานอะไรบางอย่างให้พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งก็อาจเป็นการแสดงละครอีกฉากหนึ่งเท่านั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี จนบัดนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่า พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติจะเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นที่คาดกันว่าถึงที่สุดคงต้องเข้าร่วม แต่คำถามยังคงมีว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หากเป็นคุณเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะจากสว.หรือไม่ หากจะให้ฟันธงในขณะนี้ จะขอฟันธงเหมือนคุณจตุพร พรหมพันธ์ุว่า คุณเศรษฐาจะไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐสภา เพราะไม่น่าจะผ่านด่านสว.ได้

เหตุผลหลัก ไม่ใช่เพราะคุณเศรษฐาถูกคุณชูวิทย์แฉแล้วมีน้ำหนัก เพราะนั่นเพียงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง หรือเพราะคุณเศรษฐาเคยให้ความเห็นว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะหากมองย้อนไปในอดีต จะไม่เคยเห็นพรรคเพื่อไทยมีความเห็นหนักแน่นว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 อย่างที่เห็นวันนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีม็อบที่จาบจ้วง หยาบคาย รุนแรง และให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์จนถูกดำเนินคดีไปอย่างมากมาย มาจนถึงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่้อไทยไม่เคยแสดงความเห็นว่า จะต้องคงมาตรา 112 ไว้โดยไม่แก้ไข มีแต่แสดงความเห็นว่ามาตรา 112 ถูกใช้เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือจัดการกับผู้เห็นต่าง ระหว่างการหาเสียง ทั้งคุณเศรษฐาและคุณอุ๊งอิ๊งจึงพูดเหมือนกันว่า จะแก้ไขมาตรา 112 แต่ไม่ยกเลิก เพิ่งจะมาเห็นพรรคเพื่อไทยแสดงความหนักแน่นว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 ก็ตอนทำ MOU 8 พรรค และยิ่งหนักแน่นมากขึ้นหลังจากที่คุณพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเนื่องจากสว.ไม่ลงคะแนนให้เพราะนโยบายที่จะแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั่นเอง

ดังนั้นไม่ใช่ตัวคุณเศรษฐาคนเดียวที่เป็นสาเหตุ แต่เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยเองด้วย ยิ่งแถลงว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลการประชุมคณะรัฐมนตรีวาระแรกจะเป็นเรื่องตั้งสสร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งยังไม่ระบุว่าจะไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เหมือนจะเอาใจพรรคก้าวไกลอย่างไรไม่ทราบ เช่นนี้อย่าว่าแต่สว.ที่มีความคลางแคลงใจ ประชาชนที่ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปก็เกิดความคลางแคลงใจเช่นกัน ส่วนประเด็นเรื่องแก้หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จจะทำให้เจ้าของพรรคกลับบ้านได้โดยไม่ต้องติดคุกแม้เพียงวันเดียวก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

หากคุณเศรษฐาไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงก็อาจไม่ผิดหวังแต่อย่างใด เพราะคงไม่คาดหวังอยู่แล้ว เนื่องจากคุณเศรษฐาคงไม่ใช่คนที่จะทำตามคำสั่งได้ทุกเรื่องเหมือนคนในครอบครัว หรือคนเก่าแก่ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลยหากพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนใจ ไม่เสนอชื่อคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อถึงวันประชุมรัฐสภาจริงๆ

ไม่ว่าคนของพรรคการเมืองใด หรือใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากความเคลื่อนไหวต่างๆของพรรคการเมืองและพรรคการเมืองในขณะนี้ก็คือ นักการเมืองในบ้านเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ การกระทำทุกอย่างจะอ้างว่า ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อได้ ทำเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่แท้ที่จริงทำเพื่อพรรคตัวเองและเพื่อตัวเองเกือบทั้งสิ้น หากประเทศชาติ ประชาชน ต้องมาก่อนจริงๆ ทำไมยังคงต้องมีระบบโควต้า ครั้งนี้โควต้าคือ 9 ต่อ 1 คือส.ส. 9 ที่นั่งต่อตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ทำไมยังต้องแก่งแย่งกันเป็นรัฐมนตรี ทำไม่ต้องแย่งกระทรวงเกรด A กัน ทำไมไม่ช่วยกันเลือกคนที่ดีที่สุด เก่งที่สุด เหมาะสมที่สุดให้เป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ไม่ว่าคนนั้นจะมาจากพรรคใด หากไม่มีนักการเมืองคนใดเหมาะสมก็เสาะหาคนนอกที่เหมาะสม ไม่ใช่พี่เป็นไม่ได้เพราะขาดคุณสมบัติก็ให้น้องเป็น หรือภรรยาเป็นไม่ได้ก็ให้สามีเป็น อย่างที่ผ่านมา

หากเลิกใชัระบบโควต้าเสีย ประเทศเราจะได้รัฐมนตรีที่มีความเหมาะสมที่จะทำงานในแต่ละกระทรวงมากขึ้น ประเทศไทยจะไปโลด น่าเสียดายที่ในความเป็นจริง เป็นการยากมากกระทั่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนี้ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ และนักการเมืองบ้านเรายังคงมีวิธีคิดแบบเดิม และพฤติกรรมแบบเดิม

น่าสงสารประเทศไทยจริงๆ