นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า
เวียนหัว บ้านหมุน ทำท่าอินเดีย อาจช่วยได้
อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โดยที่ลักษณะเวียนเป็นครั้งละสั้นๆประมาณหนึ่งอึดใจ ไม่เกิน 1 นาที และมักจะมี “ท่าประจำ” โดยที่หันศีรษะหรือตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งถ้าพลิกกลับมาเป็นท่าตรงหรือด้านตรงข้าม อาการจะทุเลาลง
นอกจากนั้นถ้ากัดฟันทนไม่ตะแคงกลับหรือเปลี่ยนท่า อาการเวียนจะค่อยๆหายไปเอง ถ้าเป็นมาก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่ไม่มีเสียงดังในหู หรือหูได้ยินน้อยลงหรือหูดับ
ถ้าฝืนลืมตาจ้องไปที่วัตถุนิ่งๆ สักพัก อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและไม่มีภาพซ้อน
อาการเวียนหมุนเหล่านี้ เกิดจากตะกอนน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูน หลุดหรือ Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV) คือ อาการเวียนบ้านหมุนที่เกิดเป็นชั่วขณะขึ้นอยู่กับท่า และไม่อันตราย
การทำให้หายได้เร็วๆยิ่งขึ้นนั้น ก็คือการเชียร์ ให้มีการเคลื่อนไหวเร็วๆ หรือบริหารคือให้นั่งห้อยเท้าอยู่ข้างเตียง และล้มตัวอย่างเร็วไปทางด้านขวา ให้มีหมอนรองไว้ก็ดี (ระวังคอหัก) นิ่งสักพัก
หรือถ้ามีอาการเวียนเกิดขึ้นก็รอสักครู่ จากนั้นลุกขึ้นมานั่งใหม่ และล้มตัวตะแคงไปทางด้านซ้าย ถือเป็น 1 รอบ
ท่าบริหารลักษณะนี้อาจมีหลายท่าตามตำรา แต่อาจจะปฏิบัติที่บ้านยาก
ง่ายกว่าคือบริหารท่าอินเดีย สามท่า ด้วยกันคือ
1.พยักหน้าเร็วๆ
2.ส่ายหน้าเร็วๆ
3.เอียงคอซ้ายขวาเร็วๆ
ทั้งหมดนี้ไม่ต้องขยับคอมาก
ทำได้บ่อยๆ ไปประมาณ 1-2 อาทิตย์
โรค BPPV นั้น เกิดจากการที่มีตะกอนหลุดลอกออกมาจากเยื่อในหูชั้นใน และตกตะกอนลงในท่อน้ำ 1 ใน 3 ท่อ ทำให้ “หนัก” ไม่เท่ากัน ดังนั้นการเคลื่อนไหวในท่าต่างๆนี้จะเป็นการทำให้ตะกอนเหล่านี้ฟุ้งกระจายกลับเข้าไปในกระเปาะหูชั้นใน ซึ่งจะมีการดูดซึมต่อ
โดยปกติแล้วจะไม่ให้ใช้ยามาก เนื่องจากยาบรรเทาอาการเวียน
เป็นการบรรเทา และเสมือนหยุดยาไม่ได้ ต้องใช้ต่อเนื่องกันนานๆเป็นเดือน เป็นปี
อาการเวียน-หมุนแต่ละครั้ง สาเหตุอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นโรคในสมอง อาจจะเกี่ยวกับ เป็นเส้นเลือดคู่หลัง (เส้นเลือดในสมองมี 2 คู่ คู่หน้าคู่หลัง )
ที่วิ่งเลาะผ่านกระดูกก้านคอเข้าไปในสมอง โดยที่ถ้าขยับศีรษะหรือหมุนบิดคอ รุนแรง เนิ่นนาน จะทำให้เส้นเลือดตันทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
หรือ เกิดจากเส้นเลือดสมองคู่หลังโก่งเข้าไปเบียดเส้นประสาทหูทรงตัว หรือ กระเปาะน้ำในหูชั้นใน ผิดปกติ กลายเป็น น้ำในหูไม่เท่ากันที่ต่อมามีเสียงดังในหู และการได้ยินลดลง
ดังนั้น ทุกครั้งต้องจำลักษณะอาการให้ได้ เนื่องจากขณะที่มาตรวจอาจจับผู้ร้ายไม่ได้เพราะไม่มีอาการแล้ว