xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สัญจรเขตสะพานสูง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะ แก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อติดตามการบริหารจัดการและปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตสะพานสูง รวมถึงความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมรามคำแหง ชั้น 2 สำนักงานเขตสะพานสูง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เขตสะพานสูงเป็นเขตที่เชื่อว่าคนจำนวนมากไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน แต่เป็นเขตที่สำคัญเขตหนึ่งเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยมีพื้นที่ประมาณ 28.124 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 96,708 คน ซึ่งเชื่อว่าจะมีการขอใบอนุญาตก่อสร้างหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการคมนาคมที่เพิ่มมากขึ้น เช่นบริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา มีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านถนนรามคำแหง ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นเขตที่มีผู้คนมาอยู่อาศัยมากขึ้น ปัญหาหลักของเขตสะพานสูง เรื่องแรกคือ เรื่องขยะ เนื่องจากว่าเมื่อมีหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บขยะ มีปัญหา ปัจจุบันเราตั้งเป้าหมายว่าทุกจุดในกรุงเทพมหานคร ต้องเก็บขยะอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในเขตสะพานสูงมีอีกหลายหมู่บ้านที่ยังเก็บไม่ได้ ซึ่งต้องเร่งรัดโดยด่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บขยะ ภายในปีนี้คาดว่าน่าจะเห็นผล อีกปัญหาหนึ่งคือ มีการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่ว่าง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชนที่ปล่อยว่างไว้ ซึ่งไม่มีรั้ว จะมีการขนขยะก่อสร้างต่างๆ มาทิ้ง บางครั้งเจ้าของที่เองก็รู้เห็นเป็นใจด้วย เรื่องนี้ทางกทม. มีนโยบายเอาจริงในการดำเนินการตามมาตรการเพื่อให้เจ้าของรับผิดชอบ เพราะตามหลักเจ้าของที่ต้องมีรั้วในที่ของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้คนนำขยะมาทิ้ง ทั้งนี้จะเร่งรัดในการแจ้งเจ้าของที่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการทิ้งขยะ ซึ่งปกติปรับ 2,000 บาท ต่อไปจะปรับทุกวันจนกว่าจะจัดการให้เรียบร้อย หวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องขยะในพื้นที่ได้มากขึ้น

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่ 2 คือ เรื่องน้ำท่วม เพราะเขตสะพานสูงมีหมู่บ้านเก่าจำนวนมาก มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมหลัก 3 จุด คือ ถนนกรุงเทพกรีฑา เดิมจะเป็นถนนที่มีความต่ำ หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง มีประมาณ 3,000 หลังคาเรือน มีจุดน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะอยู่ระดับต่ำ และหมู่บ้านเคหะธานี 4 มีประมาณ 2,000 หลังคาเรือน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนการปรับปรุงแล้ว อาทิ เคหะธานี 4 ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชน มีการเข้าไปติดตั้งปั๊มน้ำ แต่ต้องเร่งดำเนินการในมิติอื่น เช่น ปัจจุบันมีคลองในพื้นที่เยอะ แต่ไม่มีตัวเขื่อน ขั้นแรกคือ ทำเรื่องแนวเขื่อนตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองทับช้างล่าง คลองทับช้างบน เพื่อป้องกันน้ำเข้าไปในหมู่บ้าน รวมทั้งการติดตั้งระบบสูบน้ำ และทำถนนให้สูงขึ้น แม้จะมีจุดอ่อนเรื่องน้ำท่วมอยู่ แต่เราก็ลดความเสี่ยงลงพอสมควรแล้ว ส่วนประเด็นอื่น เช่น มีการจราจรติดขัดอยู่บ้าง บริเวณถนนราษฎร์พัฒนาหรือซอยมิสทีน ซึ่งเป็นจุดที่มีรถจำนวนมากเข้ามา ในอนาคตหากรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดใช้งานและมีระบบฟีดเดอร์ที่ดี ก็อาจทำให้คนเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เรื่องหาบเร่แผงลอย มี 2 จุดที่มีปัญหา คือ ตลาดลาว ซอยมิสทีน กับบริเวณหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งได้ให้เขตลงไปจัดการหาพื้นที่ที่ไม่อยู่ในที่สาธารณะ เพื่อดำเนินการย้ายผู้ค้าเข้าไปอยู่บริเวณนั้น โดยภาพรวมในด้านต่าง ๆ เขตสะพานสูงทำได้ดี

ส.ก.มธุรส เขตสะพานสูง กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมได้มีการผลักดันมาโดยตลอด ทั้งในพื้นที่สาธารณะและเอกชน เรื่องปัญหาการทิ้งขยะก็ได้ใช้มาตรการค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งหากเราควบคุมเรื่องพื้นที่ว่างเปล่าได้ ควบคุมเรื่องการทิ้งขยะได้ รวมถึงวิธีการจัดเก็บ ปัญหาขยะก็จะลดลง ส่วนเรื่องที่เขตสะพานสูงอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ในอนาคตเราอาจต้องมีแลนด์มาร์คสักหนึ่งที่ให้เป็นที่จดจำ เช่น สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เพราะเขตสะพานสูงไม่ได้มีสวนสาธารณะที่เป็นกิจลักษณะ มีแค่สวนเล็ก ๆ แต่เรามีสวนนกที่คิดว่าสามารถนำมาปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเป็นแลนด์มาร์คของเขตสะพานสูงต่อไปได้

ส่งกำลังใจให้ความสำคัญผู้ปฏิบัติงานในมื้อกลางวันสัญจรกับบุคลากรเขตสะพานสูง

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรสำนักงานเขตสะพานสูง จำนวน 5 คน ได้แก่ นายอรรถพันธ์ ทุดปอ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) นางพรประเสริฐ บัวโค้ง ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ นางสาววิภาวัลย์ มากมี ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) นางสาวกัญญาภัค พันธุ์รัตน์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) และนายสุทิน โทอึ้น ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) พร้อมทั้งสอบถามเรื่องทั่วไป ชีวิตความเป็นอยู่ อายุราชการ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ตลอดจนให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชนและพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้การรับประทานอาหารกลางวันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” โดยให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรดังกล่าวจะปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชนอยู่ในพื้นที่และเข้าถึงปัญหามากที่สุด สำหรับรายการอาหาร ประกอบด้วย ข้าว ปลาทู น้ำพริกกะปิ ผักเคียง ไข่เจียวทรงเครื่อง แกงจืดเยื่อไผ่ บัวลอยเผือก

ตรวจเยี่ยมชุมชนในพื้นที่ ติดตามปัญหาเร่งรัดแก้ไข

จากนั้น เวลา 13.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารลงพื้นที่ ดังนี้ จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง พร้อมทั้งสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาเรียนวิชาชีพต่าง ๆ จุดที่ 2 ชุมชนเคหะธานี ตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม บริเวณจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซล ซอยราษฎร์พัฒนา 5 โดยมอบหมายให้เขตฯ เปลี่ยนเป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า และขุดลอกคลองเพิ่มเติม จุดที่ 3 ชุมชนสวนนกพัฒนา เยี่ยมชมสวนมณีวารีรมย์ ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น และต้นหว้า จำนวน 7 ต้น บริเวณสวนมณีวารีรมย์ ซอยราษฎร์พัฒนา 15 แยก 2 ซึ่งเป็นสวนปรับปรุงใหม่ พัฒนาพื้นที่ 1,500 ตารางวา เป็นสวน 15 นาที ตรวจเยี่ยมชุมชนสวนนกพัฒนา รับทราบปัญหาในพื้นที่และพบปะพูดคุยกับประชาชน จุดที่ 4 ติดตามการปรับปรุงถนน บริเวณซอยราษฎร์พัฒนา 15 จุดที่ 5 ถนนกรุงเทพกรีฑา เยี่ยมชมการปรับภูมิทัศน์ถนนสวย ซอยกรุงเทพกรีฑา 18 ถึงซอยกรุงเทพกรีฑา 20 ตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม บริเวณจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำหน้าสนามกอล์ฟยูนิโก้ (คลองบ้านม้า) และจุดที่ 6 ชุมชนนักกีฬาแหลมทอง ตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม บริเวณจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ซอยนักกีฬาแหลมทอง 5 ติดกับคลองทับช้างล่าง หาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงคลอง