วันที่ 1 สิงหาคม 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทย ทางหน้าเว็บไซต์ National Data Buoy Centre พบว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 03.00 น. ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ได้ติดตั้งในทะเลอันดามัน (ตัวใกล้) สถานี 23461 ไม่รายงานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำ และวันนี้ ในเวลา 01.23 น. ได้ตรวจสอบการระบุตำแหน่ง (GPS) ของทุ่น พบว่าทุ่น ได้เคลื่อนที่ออกจากจุดติดตั้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากจุดติดตั้ง และห่างจากเกาะสุรินทร์ 198 กิโลเมตร โดยจะได้ดำเนินการส่งทีมไปเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิดังกล่าวกลับมาโดยเร็ว
ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้มีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 ทุ่น ได้แก่ ทุ่นตัวที่ 1 ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร ทุ่นตัวที่ 2 ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งได้ทำการบำรุงรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิดังกล่าว อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ปี ตามมาตรฐานการบำรุงรักษาขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) โดยทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (สถานี 23401) ยังทำงานเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งนำข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้มาประกอบการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ ติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะเกิดสึนามิอย่างรอบด้านบนฐานข้อมูลเชิงวิชาการ รวมถึงได้มีการวางระบบเตือนภัยสึนามิให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนสึนามิได้แม่นยำ ผ่านหลากหลายช่องทางให้เข้าถึงระดับพื้นที่ รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที